คำชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

ต่อกรณีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน

----------------------------

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน จนถึงปลุกกระแสต่อต้านศาสนาอิสลามในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการทำร้ายฆ่าคนไทยพุทธ และเชื่อว่าเหตุไม่สงบเกิดจากการใช้มัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อร้ายและการบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความเกลียดชัง แตกแยก จนนำไปสู่ความเกลียดชังประเทศชาติ พร้อมทั้งสรุปว่า เชื้อร้ายดังกล่าวกำลังคืบคลานขยายตัวเข้ามายังภาคอีสาน ภาคเหนือ และทุกจังหวัดผ่านการสร้างมัสยิด ต่อมามีการรวมกลุ่มคนจำนวนหนึ่งส่งจดหมายเรียกร้องจุฬาราชมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามในประเทศ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่คนกลุ่มนี้มองว่าสร้างความวุ่นวายแตกแยกในสังคมไทย และที่สำคัญคุกคามพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ

สำนักจุฬาราชมนตรีตระหนักดีว่าพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีความเข้าใจและให้เกียรติคนมุสลิมเสมอมา แต่ก็มิได้ละเลยต่อปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้นที่อาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยและส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่างศาสนาในระยะยาว ตลอดจนกร่อนเซาะรากฐานความมั่นคงของประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อจรรโลงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ผู้คนต่างศรัทธามีความเคารพ ให้เกียรติและยอมรับในความเชื่อและความต่างทางชาติพันธุ์ของกันและกันเสมอมา สำนักจุฬาราชมนตรีขอใช้โอกาสนี้
ทำความเข้าใจหลักคำสอนและแนวทางปฏิบัติของมุสลิมต่อสังคมไทย ดังต่อไปนี้

             ๑. การเชื่อมโยงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ มัสยิด และ สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม ว่า หากมีสถาบัน ๒ แห่งนี้ที่ไหน จะมีความไม่สงบที่นั่น นับเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ๒ ประเด็น คือ

                    ๑.๑ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อเหตุแห่งปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาแต่อย่างใด แต่มีรากเหง้ามาจากความขัดแย้งทางการเมือง ประวัติศาสตร์ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต ความไม่เป็นธรรม ยาเสพติด และธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามจากคนบางกลุ่มใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จกับคนมุสลิมส่วนใหญ่ที่มีความตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพในทางศาสนาที่ประเทศให้หลักประกันกับประชาชนทุกหมู่เหล่า

๑.๒ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อ “มัสยิด” และ “สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม” ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของ “หลักศรัทธา” “หลักปฏิบัติ” และ “หลักคุณธรรม” กิจวัตรประจำวันของมุสลิมจึงผูกพันไว้กับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม มัสยิดจึงเป็นศาสนสถานที่มีหน้าที่ไม่ต่างไปจาก “วัด” ในพุทธศาสนา ส่วนสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในการอบรมบ่มเพาะคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งขัดเกลาจิตใจ และจิตวิญญาณของศรัทธาชนให้ดำเนินอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ต่างไปจากศูนย์อบรมจริยธรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของวัดแต่ประการใด ปัจจุบันสถาบันการสอนศาสนาอิสลามมีการปรับตัวโดยการนำเอาหลักสูตรสามัญดังเช่นที่นักเรียนทั่วประเทศเรียนไปสอนร่วมกับการอบรมจริยธรรมทางศาสนา สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามส่วนใหญ่จึงปฏิรูปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้การสร้างมัสยิดที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ตามแนวทางที่สำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดไว้ โดยมีการกำกับจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ

๑.๓ ปัญหาการเผยแพร่ความคิดเชิงอุดมการณ์ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งเกิดจากการอ้างคำอธิบายทางศาสนา กล่าวคือ ผู้ก่อความไม่สงบปลูกฝังความคิดว่าประเทศไทยเป็น “ดินแดนสงคราม” ดังนั้น การต่อสู้ของพวกเขาจึงมีความชอบธรรมในทางอิสลาม แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการอธิบายที่มีความคลาดเคลื่อนและห่างไกลจากบทบัญญัติศาสนาอิสลามโดยสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลไทยให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการประกอบศาสนกิจแก่คนมุสลิมอย่างเท่าเทียม และถือว่าการทำร้ายผู้บริสุทธิ์เป็นบาปใหญ่ตามหลักการศาสนาอิสลาม

 ดังนั้น การด่วนสรุปโดยการเชื่อมโยงสถานการณ์ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่มีความเข้าใจเหตุแห่งปัญหาและบริบททางสังคมอย่างแท้จริง มิได้ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกทั้ง ๒ ศาสนา

          ๒. ความพยายามเผยแพร่ข้อมูล “แผนการยึดครองประเทศไทย และนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้กับคนทั่วไปในประเทศไทย” ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เชื่อมโยงกับการสร้างมัสยิดในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย จนนำไปสู่การยึดครองประเทศของมุสลิมนั้น ข้อความลักษณะดังกล่าวห่างไกลจากความเป็นจริงมาก ความเป็นจริงคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมมีเพียง ๔ ฉบับ คือ

๑) พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการครอบครัวและมรดกของมุสลิมใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

                     ๒) พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นกฎหมายที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์จากเงินส่วนตัวของผู้ที่ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ รัฐบาลมิได้จัดงบไปสนับสนุนพิเศษ ยกเว้นกรณีที่รัฐต้องการเยียวยาให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือมุสลิมที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

๓) พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ที่ไม่ได้แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แต่อย่างใด โครงสร้างหลักของพระราชบัญญัติฉบับนี้วางบทบาทให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลาม มีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน (ระดับชุมชน มีกรรมการมัสยิด) โดยผู้นำศาสนาและตัวแทนด้านศาสนาทุกคนไม่ได้มีอำนาจ บทบาท หน้าที่ในการบริหารจัดการทางการเมืองในทุกระดับของสังคม

๔) พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นกฎหมายที่สะท้อนความเข้าใจของรัฐบาลต่อหลักการศาสนาอิสลามในเรื่องระบบการเงินที่จำเป็นต้องปราศจากดอกเบี้ย ปัจจุบันผู้ที่ใช้บริการธนาคารอิสลาม เป็นชาวไทยพุทธ ร้อยละ ๖๙.๖๑ และมุสลิม ร้อยละ ๓๐.๓๙ ที่สำคัญแม้ใช้ชื่อว่าธนาคารอิสลาม แต่มุสลิมทุกคนไม่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือประชาชนไทยพุทธแต่อย่างใด

ตามที่กล่าวมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามทั้ง ๔ ฉบับ ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรศาสนาอิสลามหรือคนมุสลิมจะมีสิทธิ อำนาจ หรือหน้าที่เข้าไปแทรกแซงกิจการทางการเมืองของรัฐไทยได้แม้เพียงน้อยนิด  

          ๓. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อ “กิจการฮาลาล” ของประเทศไทย

ในเรื่องดังกล่าวขอแจ้งให้ทราบว่า การรับรองฮาลาลมิได้เกิดจากการเรียกเก็บเงินขององค์กรศาสนาอิสลามจากสถานประกอบการ ทว่าเป็นไปในทางกลับกัน นั่นคือสถานประกอบการร้องขอให้องค์กรศาสนาอิสลามรับรองฮาลาลเพื่อประโยชน์ด้านการค้าของสถานประกอบการ ซึ่งเป็นเช่นนี้ทั่วทั้งโลก กรณีประเทศไทย การรับรองฮาลาลเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) จำนวน ๔๐ แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๕๔๐ มาตราที่ ๒๖ (๑๓) และมาตราที่ ๑๘ (๙) ตามลำดับ อันเป็นไปตามหลักบัญญัติในศาสนาอิสลามว่าผู้ทำหน้าที่ตัดสินข้อกำหนดในศาสนาอิสลามจำเป็นต้องเป็นมุสลิมที่รู้ลึกซึ้งในศาสนาอิสลาม อันเป็นข้อกำหนดที่ยอมรับกันทั่วโลก

          ปัจจุบันมีสถานประกอบการขอรับการรับรองฮาลาลสะสมตลอดหลายสิบปีจำนวน ๙,๐๐๐ สถานประกอบการ ทว่ามีการต่ออายุทุกปีประมาณ ๖,๐๐๐ สถานประกอบการ มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลและต่ออายุทุกปีจำนวน ๔๐,๐๐๐ ผลิตภัณฑ์ มีการเก็บค่าธรรมเนียม ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อสถานประกอบการต่อปี ๑,๐๐๐ บาท ต่อผลิตภัณฑ์ต่อปี เกิดรายได้จากสถานประกอบการ ๑๒๐ ล้านบาทต่อปี รายได้จากผลิตภัณฑ์ ๔๐ ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสิ้น ๑๖๐ ล้านบาทต่อปี รายได้นี้คือรายได้สูงสุด หากเรียกเก็บได้ครบตามที่กำหนดโดยเป็นรายได้ที่กระจายไปที่ สกอจ. ๔๐ แห่ง และ สกอท. ๑ แห่ง ในสภาพความเป็นจริง สถานประกอบการจำนวนมากมิใช่โรงงานขนาดใหญ่  แต่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (SMEs) การเก็บค่าธรรมเนียมจึงลดลงตามขนาดของโรงงานจากนโยบายของ สกอจ. แต่ละแห่ง เป็นต้นว่า บางจังหวัดจัดเก็บสถานประกอบการของชาวบ้านเพียง ๑,๐๐๐ บาท มิใช่ ๒๐,๐๐๐ บาท สกอท. และ สกอจ. ร่วมมือกันวางระบบฮาลาลในร้านอาหารทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนกิจการการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้แก่ประเทศจำนวนมหาศาล โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถานประกอบการแต่ละแห่งเพียง ๑๐๐ บาทต่อปี มิใช่ ๒๐,๐๐๐ บาท

          ข้อมูลจากสถาบันวิจัย Global Trade Atlas ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลรายงานว่า หากนับรวมกับรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลไปยังประเทศที่มิใช่มุสลิมอีกกว่าร้อยประเทศ รายได้อาจสูงถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ๓๖๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ตัวเลขหลังนี้เองที่อาจสร้างความเข้าใจผิดว่าองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทยมีรายได้จากการรับรองฮาลาลกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และรายได้กว่า ๓๖๐,๐๐๐ ล้านบาท จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลสู่ต่างประเทศนี้ เป็นรายได้ของโรงงานและบริษัทผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการส่งออก นักธุรกิจ รายได้บางส่วนเป็นเงินเดือนพนักงานและคนงานในอุตสาหกรรมที่มีนับจำนวนแสน อีกบางส่วนเป็นรายได้สำหรับเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่อาจมีนับจำนวนล้านคนที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยไปทั่วโลกสร้างรายได้หลายแสนล้านบาทเกือบทั้งหมดมิใช่มุสลิม แต่เป็นพี่น้องคนไทยทั้งปวง ฮาลาลจึงเป็นผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนในภาพรวม มุสลิมที่มีเกือบสองพันล้านคนทั่วโลกให้การยอมรับเครื่องหมายรับรองฮาลาลจากประเทศไทยอันเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลจากประเทศไทยได้รับการยอมรับทั่วโลก หาไม่แล้วประเทศไทยจะสูญเสียรายได้เหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย มุสลิมในประเทศไทยมีในสัดส่วนที่ต่ำ มีประชากรรวมแล้วไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ของประชากรประเทศ อีกทั้งส่วนใหญ่มิได้ทำธุรกิจ มุสลิมจึงภูมิใจที่ผลิตภัณฑ์ฮาลาลสร้างประโยชน์ให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มุสลิมจำนวนไม่น้อย
เกิดความรู้สึกในเชิงจิตใจว่าฮาลาลคือหนทางหนึ่งที่มุสลิมจะสามารถตอบแทนบุญคุณต่อประเทศไทยอันเป็นที่รัก
ของพวกเขา

รายได้ที่องค์กรศาสนาอิสลามได้รับจากการเก็บค่าธรรมเนียมในการให้การรับรองฮาลาลถูกใช้ในการบริหารจัดการ สกอจ. และ สกอท. ที่มีค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากร สถานที่ และอื่น ๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ สกอจ. สกอท. นับเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มิได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนั้นรายได้บางส่วนใช้ในเรื่องการศึกษา ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่ได้แบ่งแยกศาสนา และบางส่วนใช้ในเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

ประเด็นด้านภาษีนั้น สกอท. สกอจ. เป็นองค์กรทางศาสนาได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีจากรัฐเช่นเดียวกับวัดและศาสนสถาน จึงมิได้เสียภาษี 

สำนักจุฬาราชมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรศาสนา ขอเรียนว่ามุสลิมในประเทศไทยมีความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ได้รับสิทธิเสรีภาพในการดำรงตนเฉกเช่นมุสลิมที่ดีพึงกระทำ และขอยืนยันหลักการเคารพความเชื่อซึ่งกันและกัน ไม่บริภาษว่าร้ายต่อผู้อื่นโดยปราศจากความถูกต้องและข้อเท็จจริง ที่สำคัญคือการดำรงซึ่งความเคารพ ให้เกียรติ และยอมรับกันและกันในเรื่องของความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ และภาษา

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้นำหรือรัฐบาล ตลอดทั้งสถาบันต่าง ๆ ในสังคมไทย พยายามช่วยกันรักษาทุนทางสังคมที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางศาสนา สำนักจุฬาราชมนตรี และองค์กรบริหารของมุสลิมทุกภาคส่วนขอปวารณาตนเป็นสถาบันที่จะธำรงรักษาคุณลักษณะและทุนทางสังคมที่เป็นรากฐานความมั่นคงของมนุษย์และชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสืบสานความเป็น “สุวรรณภูมิ” ของผู้คนทุกหมู่เหล่าอย่างสงบสันติต่อไป

สำนักจุฬาราชมนตรี

 ๑๙  ธันวาคม  ๒๕๖๒

 

คำชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ต่อกรณีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน

คำชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ต่อกรณีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน

คำชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ต่อกรณีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน

คำชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ต่อกรณีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน