การครองเรือนในอิสลาม
  • 23 กุมภาพันธ์ 2018 at 08:40
  • 52011
  • 0

 

การครองเรือนในอิสลาม

 

โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์

 

 

มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ต่างยอมรับว่า เขาไม่อาจที่จะหนีกฎเกณฑ์ที่พระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงลิขิตและกำหนดไปได้ เริ่มตั้งแต่จากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ และความชราสู่จุดจบของชีวิต ทุกคนต้องกิน ต้องถ่าย ต้องสืบพันธ์ หากเราพิจารณาดูอย่างผิวเผินมนุษย์เราไม่มีอะไรต่างจากสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นมากนัก และมนุษย์ก็ยังยอมรับว่า เขามีอะไร ๆ ที่ดีกว่าสิงสาราสัตว์อยู่มาก ตรงที่มีมันสมองไว้คิดสร้างสรรค์ มีปัญญาสามารถแยกแยะสิ่งที่ผิดและถูก และสิ่งที่ชั่วและดีได้ เหตุนี้จึงทำให้มนุษย์สำคัญว่า ตัวเองมีคุณค่า ความประเสริฐเลอเลิศกว่านานาสัตว์โลก ดังที่มีหลักฐานยืนยันจากอัล-กุรอาน ซูเราะห์ อัลอิซรออ์ อายะห์ที่ 70 

 

ความว่า : ขอยืนยัน แท้จริงเราได้ให้เกียรติมวลมนุษย์ทั้งหลาย และได้ให้พวกเขาขี่พาหนะในภาคพื้นดิน และท้องทะเล และเราได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดี ๆ แก่พวกเขา และเราได้ให้ความประเสริฐแก่เขาเหนือกว่าสรรพสิ่งทั้งหลายอันมากมายที่เราดลบันดาลไว้อย่างล้นเหลือ 

 

สิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การบริหารงานปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนตามวงจรชีวิตของมนุษย์ พ่อแม่มีหน้าที่อบรมเลี้ยงดูลูก ครูมีหน้าที่แนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ จากสังคมจุดเล็กไปสู่จุดใหญ่โยงไยเป็นลูกโซ่ หากช่วงหนึ่งช่วงใดขาดตอนลง การดำเนินชีวิตและการบริหารก็จะแปรปรวน เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบสุข โดยเริ่มจากสังคมจุดเล็ก ๆ นี่เอง

 

ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงเรียกร้องมนุษย์ชาติไปสู่การสร้างครอบครัวที่ดีงาม ด้วยการส่งเสริมให้มีการสมรสกับสตรีที่ดี เพื่อนางจะได้เป็นแม่พิมพ์ที่ดี และแบบฉบับอันดีงามแก่กุลบุตร กุลธิดา  ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา ควรหันมาพิจารณาแนวทางการสมรสที่อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) และท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) สั่งเสียไว้เป็นแบบอย่าง โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว การก่อร่างสร้างตัว และครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในอิสลาม อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า 
ความว่า : และจงให้พวกเจ้าแต่งงานกับผู้เป็นโสดในหมู่พวกเจ้า และคนดี ๆ จากปวงบ่าวผู้ชายของพวกเจ้า และทาสหญิงของพวกเจ้า หากพวกเขายากจน อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) จะทรงให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากความโปรดปรานของพระองค์ และอัลเลาะฮฺ เป็นผู้ทรงไพบูลย์ และทรงรอบรู้ยิ่ง (ซูเราะห์ อันนูร อายะห์ที่ 32 ) 

 

ดังนั้น ปรัชญาการครองเรือนและเป้าหมายอันสำคัญในการสร้างกระบวนการชีวิตครอบครัวของอิสลาม คือ การสืบตระกูล การกำเนิดบุตร และโดยแก่นแท้แล้ว การแต่งงานอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าชาติใด ศาสนาใด ก็เพื่อมีลูกหลานไว้เชยชม เป็นการคงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์มิให้สูญสลายไปจากโลกนี้ เป็นการปลูกฝังรากฐานให้แก่ชีวิต เป็นห่วงร้อยดวงใจบิดามารดา 
ยิ่งกว่านั้นอีก การสมรสยังสร้างมุมมองปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากมารร้าย จากการกระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม และสวนทางกับคุณธรรมในอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามมีบทลงโทษไว้อย่างรุนแรงเกี่ยวกับผู้ผิดประเวณี (ทำซีนา) ดังที่อัลเลาะฮฺ ทรงตรัสไว้ 
ความว่า : หญิงและชายที่ผิดประเวณี (โดยที่เขาทั้งสองไม่เคยร่วมประเวณีจากการสมสู่ที่ถูกต้อง) พวกเจ้าจงเฆี่ยนตีเขาทั้งสองคน ๆ ละ 100 ครั้ง และอย่าให้มีความสงสารต่อเขาทั้งสองในเรื่องศาสนาของอัลเลาะฮฺ (ซูเราะห์ อัน-นูร อายะห์ที่ 2 ) 

 

จะเห็นได้ว่า ท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้วางรูปแบบครอบครัวไว้อย่างรัดกุมและแยบยล ท่านจึงส่งเสริมให้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อครอบครัว เพราะบุคคลในวันนี้ไม่มีอะไรที่เป็นยอดปราถนายิ่งไปกว่าการหุ้นส่วนชีวิตซึ่งกันและกัน เป็นความสุขอันสุนทรีย์ที่ทุกคนใฝ่หา 
เป้าหมายอีกประการหนึ่งในการครองเรือนในทัศนะของอิสลาม นั่นก็คือ การรับภาระต่อชีวิตร่วมกัน การสมรสมิใช่การทดลองใช้ชีวิตร่วมกันชั่วคราวแล้วก็เลิกรากันไป หากแต่การสมรสโดยแท้จริงแล้วก็คือพันธะสัญญา สายใยแห่งจิตวิญญาณระหว่างคู่สมรสว่า จะต้องรับผิดชอบและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอดไป โดยเฉพาะสตรี นับว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ โดยเหตุนี้เองพระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ผู้ทรงปรีชาญาณได้วางระบบครอบครัว โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พระองค์อัลเลาะฮฺทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอาน ความว่า : และ (หนึ่ง) ในสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือ พระองค์ได้ทรงสร้างคู่ครองมาจากตัวของเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้มีใจสงบในตัวนาง และพระองค์ทรงบันดาลให้มีความรักและความเอ็นดูในระหว่างสูเจ้า (ให้สามีภรรยารักใคร่ เห็นใจกัน) แท้จริงในนั้น แน่นอน มีสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ตรึกตรอง) (ซูเราะห์ อัรรูม อายะห์ที่ 21) 



ความสำคัญของสถาบันครอบครัวในอิสลาม 
อิสลามถือว่าโดยสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์แล้วสตรีย่อมมีฐานะที่ทัดเทียมกันกับบุรุษเพศ และอิสลามถือว่าสัมพันธภาพระหว่างสองเพศดังกล่าว ควรต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร ความห่วงใย ความรัก และโอบอ้อมอารีที่อยู่ในกรอบของศาสนา ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อรังสรรค์ จรรโลงสังคมที่เปี่ยมสุข ครอบครัว คือ เสาหลักที่ค้ำจุนการพัฒนาสังคม การแต่งงานและใช้ชีวิตฉันสามีภรรยา คือ มาตรการหลักในการเสริมสร้างครอบครัวอันอบอุ่น 

 

ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน การมุ่งเน้น การแข่งขันเพื่อสร้างความมั่งคั่ง และก้าวหน้าทางรายได้ ทำให้ประชาสังคมมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ความร่ำรวยมักเป็นตัวชี้วัดคุณค่าของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การแสวงหาความร่ำรวยเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมที่นำมาสู่ความร่ำรวยเหล่านั้นจะขัดต่อหลักทางศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคนหนุ่มสาวที่กำลังสำลักกับกระแสคลื่นแห่งอารยธรรมแสงเสียง และความสัมพันธ์อันไร้ขอบเขตระหว่างหญิงชาย อันก่อให้เกิดอาชญากรรมทางสังคมที่สะเทือนอกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง 

 

อาจกล่าวได้ว่าสังคมในปัจจุบันมีความเจริญทางวัตถุ แต่เกิดความเสื่อมเสีย อักเสบทางจิตใจและค่านิยม ความเจริญ และความมั่งของสังคมมักจะต้องแลกเปลี่ยนกับความสูญเสียของคุณธรรม และจริยธรรมควบคู่กันไปเสมอ 
สังคมปัจจุบันกำลังเผชิญกับโรคพร่องทางจิตใจ ขาดเซรุ่มทางจิตวิญญาณที่อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงมาก หากเราศึกษาเชิงลึก สภาพปัญหาในแต่ละครอบครัวซึ่งเป็นระบบย่อยที่เล็กที่สุดของสังคมเป็นอย่างดีแล้ว เราจะพบข้อสรุปว่า ปัญหาดังกล่าวได้ลุกลามและเรื้อรังจนถึงขั้นวิกฤติเลยทีเดียว 

การเลือกคู่ครองที่ดี 
อันคุณลักษณะของสตรี 4 ประการที่ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ทรงวจนะไว้ 
ความว่า : สตรีเพศ จะถูกสมรสด้วยคุณลักษะ 4 ประการ ด้วยทรัพย์สมบัติของนาง รูปสมบัติของนาง วงศ์ตระกูลของนาง และศาสนาของนาง ดังนั้น จงเลือกเอาศาสนา ท่านจะพบกับความผาสุขในชีวิต (บุคอรี) 

 

ในฮาดิษบทนี้จะเห็นได้ว่า ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ตอกย้ำและเน้นให้เลือกสตรีที่มีศาสนา มุสลีมะห์ทุกคนมีศาสนา แต่เป้าหมายที่จะเอาคือ สตรีที่ปฏิบัติตามหลักการอิสลามครบสมบูรณ์และประพฤติตัวอยู่ในครรลองขอบข่ายของอิสลาม เรียกว่า “สตรีซอลิฮะหฺ” เหตุนี้เองท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) จึงกล่าวว่า 
ความว่า : สิ่งที่มีในโลกทั้งหมดเป็นเครื่องประดับ และเครื่องประดับที่ดีที่สุดในโลกคือ “สตรีที่ดี” (มุสลิม – นะซาอี)

 

โดยภาพลักษณ์แห่งการสร้างครอบครัวที่ดีตามแบบฉบับอิสลามนั้น ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ให้ข้อคิดและอุทาหรณ์แก่เราไว้ 
ความว่า : ผู้ใดที่สมรสกับสตรีเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงของเธอ อัลเลาะฮฺจะไม่เพิ่มเกียรติยศชื่อเสียงแก่เขา นอกจากความต่ำต้อย และผู้ใดสมรสเพื่อทรัพย์สมบัติของเธอ อัลเลาะฮฺจะไม่เพิ่มทรัพย์สมบัติแก่เขา นอกจากความยากจน ผู้ใดสมรสเพื่อวงศ์ตระกูลของเธอ อัลเลาะฮฺจะไม่เพิ่มตระกูลที่ดีแก่เขา นอกจากความต่ำช้า และผู้ใดที่สมรสกับสตรี โดยที่เขาไม่ต้องการสิ่งใดจากเธอ นอกจากเพื่อให้สายตาของเขาลดต่ำลง และเพื่อปกป้องอวัยวะเพศของเขา หรือเพื่อให้ได้รับความเมตตาจากพระองค์ อัลเลาะฮฺจะทรงประทานความจำเริญศิริมงคลแก่เขาในตัวเธอ และความศิริมงคลแก่เธอในตัวเขา (บันทีกโดย อิบนุ ฮิ๊บบาน) 

จรรยาบรรณในชีวิตคู่ 
การแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตครอบครัวซึ่งเป็นฐานรากของสังคมและอารยธรรมของมวลมนุษยชาติครอบครัวเป็นอิฐก้อนแรกของอาคารแห่งสังคม เป็นสถาบันอันแข็งแกร่งในการคัดสรร และตระเตรียมคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังอันเข้มแข็งของสังคมในอนาคต หากครอบครัวมีความแข็งแรง มีความรัก อบอวลด้วยไออุ่น แน่นอนที่สุดสังคมก็จะมีความมั่นคง และสามารถสร้างอนาคตที่ดีให้แก่สังคมได้ ดังนั้นอิสลามจึงให้ความสำคัญในเรื่องของครอบครัวเป็นอย่างมาก และเนื่องจากสามีภรรยาเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตครอบครัว อิสลามจึงได้กำหนดกรอบแห่งจรรยาบรรณของสามีภรรยาไว้ เพื่อความเป็นปึกแผ่น มั่นคงของครอบครัวด้วยประการดังต่อไปนี้

 

  1. สามีภรรยา ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตใจต่อกัน มอบความรัก ความเมตตา ความเอ็นดู ความรับผิดชอบในหน้าที่ของกันและกัน สิทธิ ดังกล่าวนี้คือ เป็นหน้าที่ทางศาสนาที่ทั้งสองฝ่ายพึงปฏิบัติต่อกันให้ครบถ้วน เพราะหน้าที่ดังกล่าวนี้จะต้องได้รับการสอบสวนต่อเบื้องพระพักตร์ของ อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ในวันแห่งการตัดสิน 
     
  2. อย่าตำหนิติเตียนข้อบกพร่องของกันและกันต่อหน้าคนอื่นหรือแม้แต่ต่อหน้าลูกไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม หากต่างฝ่ายต่างมองในสิ่งที่ดีและยอมรับหรือให้อภัยต่อความบกพร่องของกันและกัน ที่สุดแล้วความชิงชังรังเกียจต่อกันก็จะไม่เกิดขึ้นในสภาบันครอบครัว 
     
  3. สามีคือบุคคลที่ภรรยาต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามเป็นคนแรก หากภรรยาดื้อรั้นดันทุรังไม่เชื่อฟังต่อสามี สุดท้ายมันก็จะนำพาไปสู่ความล้มเหลวในระบบชีวิตครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเชื่อฟังสามีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดถึงขนาดที่ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) เคยกล่าวว่า : ผู้หญิงไม่ต้องถือศีลอดสุนัตถ้าหากสามีของนางไม่ทรงอนุญาต (รายงานโดย อบูดาวูด) 
     
  4. สามีจะต้องสอนภรรยาให้รู้ถึงกฎระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติตัว และวิถีแห่งการดำเนินชีวิตตามหลักการของศาสนาอิสลาม 
     
  5. ภรรยาอย่าออกนอกบ้านก่อนได้รับอนุญาติจากสามีก่อนและอย่าให้ผู้ชายใดเข้ามาในบ้านในขณะที่สามีไม่อยู่เป็นอันขาด 
     
  6. ภรรยาจะต้องทำให้สามีพึงพอใจ เพราะภรรยาที่ทำให้สามีพึงพอใจและมีความสุขนั้นไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในชีวิตคู่เท่านั้น หากแต่ภรรยาเช่นนี้จะได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอนด้วย ดังที่บรมศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า ความว่า : เมื่อสามีปราถนาความสุขทางเพศกับภรรยาแต่นางกลับปฏิเสธ และทำให้สามีต้องโกรธเคืองนางไปตลอดทั้งคืน แน่แท้มลาอีกะฮฺจะสาปแช่งภรรยาเช่นนี้ไปจวบจนรุ่งสาง (รายงานโดย บุคอรี, มุสลิม) 
     
  7. ภรรยาจะต้องจัดบ้านให้สะอาดเรียบร้อย และควรจะรักษาร่างกาย และเสื้อผ้าของตนเองให้สะอาดอยู่เสมอเมื่ออยู่กับสามี
     
  8. ภรรยาจะต้องรักษาทรัพย์สิน เกียรติยศ และความลับของสามีไว้อย่าได้แพร่งพรายออกนอกบ้าน 

 


หน้าที่ของผู้เป็นแม่ในอิสลาม 
เราคงเคยได้ยินคำว่า “สวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา” แต่ทว่า.. ใครกันเล่าคือมารดาที่สรวงสวรรค์จะถูกวางไว้ใต้ฝ่าเท้าของเธอ แน่นอนว่าแม่ที่ดีนั้นก็คือ ผู้รู้หน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อลูกน้อยของเธอ ในลักษณะอันสมบูรณ์มากที่สุด แม่ที่ดีคือผู้รู้ถึงขนาดของความรับผิดชอบของตนเอง ในฐานะ “แม่มุสลิมะฮฺ” ซึ่งยังผลไปสู่การผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านสรีระและจิตวิญญาณ มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติบ้านเมือง ดังกล่าว นอกเหนือไปจากความเอาใจใส่ต่อเรื่องครอบครัว และสามีอันเป็นที่รักยิ่งของเธอ.. ถึงตรงนี้เกิดปุจฉาขึ้นมาว่า ศาสนาอิสลามได้วางแนวทางปฏิบัติตนไว้อย่างไรบ้าง..เพื่อสตรีมุสลิมที่อยู่ในวัยของการเป็น “แม่คน” จักได้ดำเนินและยึดถือเป็นแนวทางดังกล่าวเป็นครรลอง ในการปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าการที่พระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงโปรดประทานเกียรติ และสถานะอันสูงส่งให้แก่ผู้เป็นมารดา โดยกำหนดให้สรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นความหวังอันสูงสุดของมนุษย์เราได้อยู่ใต้ฝ่าเท้าของเธอนั้น ก็ด้วยมูลเหตุแห่งบทบาทและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่เธอได้หยิบยื่นแก่ลูกน้อยทั้งหลายนั่นเอง เพราะเมื่อการปฏิสนธิ และการตั้งครรภ์ได้อุบัติขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะ “แม่” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ ที่ตรงนี้ 

 

หากจะกล่าวกันในความเป็นจริงแล้ว ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่จะเป็นแม่คนเป็นมารดาผู้บังเกิดเกล้า พึงหยิบยื่นแก่ลูกน้อยนั้น เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการแต่งงาน โดยเธอนั้นจะต้องเลือกคู่ครองสามีที่ดี (เข้าใจ – เคร่งครัดในเรื่องศาสนา และมีจรรยามารยาทจิตใจงดงาม) เพื่อจะได้พ่อที่ดีสำหรับลูกรัก เพราะผู้เป็นพ่อนั้นจำต้องมีส่วนร่วมในการอบรมเลี้ยงดู กุลบุตร – กุลธิดา ด้วยเช่นกัน ในขณะที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงโปรดประทานให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สตรีมุสลิมะฮฺผู้เริ่มก้าวสู่การเป็นแม่ที่แท้จริงนี้จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “เธอนั้นถูกใช้ให้ตามหลักศาสนบัญญัติ และตัวบทกฎหมาย ให้พิทักษ์รักษาทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นจะเป็นการดีอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือต้องใช้แรงงานมากเกินไป เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการ “แท้ง” หรืออย่างน้อยก็เกิดการกระทบกระเทือน ต่อทารกในครรภ์ได้ ต้องระวังในเรื่องอาหารการกินที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง แม้กระทั่งบางอย่างที่รับประทานเข้าไปในภาวะปกตินั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในระยะตั้งครรภ์ไม่ควรบริโภคเข้าไปอาทิ เช่น ยาบางประเภท มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย “ติดบุหรี่” ในช่วงตั้งครรภ์จะต้องตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาด หากต้องการให้ลูกน้อยเกิดมาในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ อาการครบ 32 เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ในส่วนของสุขภาพร่างกายและจิตใจจักต้องดูแลเอาใจใส่ให้อยู่ในสภาพดีเสมอและพึงระวังปริวิตกและอาการเครียดต่าง ๆ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าทารกในครรภ์นั้นจะได้รับอิทธิพลและผลกระทบจากสภาพจิตใจของผู้เป็นแม่ด้วย 
หลังจากการคลอดลูก หน้าที่ของความเป็นแม่ก้าวเข้าสู่ช่วงต่อไป ในช่วงนี้จะต้องมีการกล่าวอะซานที่หูขวา และกล่าวอิกอมะฮฺ ที่หูซ้ายของทารกแรกเกิด ตามด้วยการตั้งชื่อที่ดีศิริมงคล การโกนผมไฟและบริจาคทาน 

 

ในช่วงนี้ผู้เป็นพ่อจะต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย และที่สำคัญอย่าได้หลงลืม การเชือดสัตว์พลีทานที่เราเรียกว่า “อากีเกาะห์” นั่นเอง เพราะเหล่านี้คือแบบฉบับและจริยวัตรบรมศาสดา (ซ.ล.) และเป็นพลีทานซึ่งจะติดตัวเด็กน้อยนั้นตลอดไป ดังวจนะแห่งศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) 
ความว่า : เด็กทารกทุกคนนั้นถูกประกันไว้ด้วยอากีเกาะห์สัตว์เชือดพลีทาน ซึ่งจะเชือดกันในวันที่ 7 หลังการคลอด ให้โกนผมไฟ และตั้งชื่อที่ดีศิริมงคล 

 

ในช่วงวัยดื่มนม ช่วงนี้เป็นหน้าที่ของแม่อีกเช่นกัน ที่จะต้องเอาใจใส่ในเรื่องของความสะอาดและเรื่องการดื่มนมของลูกน้อย ที่เพิ่งจะถือกำเนิดเกิดมาลืมตาดูโลกเมื่อไม่นานมานี้ การให้ลูกดื่มนมจากธรรมชาติ คือการเลี้ยงดูเด็กในวัยนี้ที่ถูกต้องและมีประโยชน์มากที่สุด ดังพระราชดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ที่ว่า...... 
ความว่า : และบรรดามารดาทั้งหลาย พวกเธอจักต้องให้ลูกน้อยได้ดื่มนมเป็นเวลา 2 ปีเต็ม 
คำว่าการดื่มนมตามธรรมชาตินี้ หมายถึงการให้ลูกดื่มนมของแม่นั่นเอง 

 

นี่เองคือหลักการเลี้ยงดูทารกแรกเกิด วัยดื่มนมที่ศาสนาอิสลามได้ใช้และชี้ถึงความสำคัญของการดื่มนมแม่ ซึ่งถูกกล่าวไว้อย่างชัดเจน ในพระบรมราชโองการแห่งพระองค์มาเป็นเวลานานถึง 1,400 กว่าปีมาแล้ว และในวงการแพทย์ยุควิทยาการสมัยใหม่ก็ได้ยืนยันอย่างแน่นอนว่า น้ำนมแม่นั้นไม่มีอะไรจะมาเทียบเท่าได้เลยในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารครบทุกหมวดหมู่ที่ทารกจะได้รับ น้ำนมซึ่งกลั่นออกมาจากอกอันอบอุ่นของผู้เป็นมารดา สู่ปากน้อย ๆ ของลูกรัก น้ำนมอันบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อโรคร้ายใด ๆ ... 
สำหรับปัจจัยประการหนึ่งในการสร้างบุคลิกภาพของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ก็คือการทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ให้เขารู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้เป็นแม่ ดังนั้นสตรีมุสลิมะฮฺทั้งหลายขอจงระวังในเรื่องการใช้ความรุนแรง ป่าเถื่อนและหยาบคายในการปฏิบัติกับลูกที่กำลังเจริญเติบโตและซึมซับความรู้สึกต่าง ๆ ได้เร็วกว่าช่วงวัยอื่น ๆ แม่ที่ดีจะต้องมีความเอื้ออาทร และอ้อมกอดอันอบอุ่นสำหรับลูกน้อยของเธอ... 

 

ในขณะที่ลูกน้อยได้เริ่มเติบโตขึ้น เริ่มมีอาการเข้าใจและรับรู้คำพูดต่าง ๆ ของผู้เป็นแม่ เราต้องทำให้ลูกอยู่ห่างไกลจากการฟังถ้อยคำ หรือภาษาที่หยาบคายต่าง ๆ และในขณะเดียวกันสิ่งที่ลูกควรได้ยินได้ฟัง และได้เห็นนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ท่ามกลางครอบครัวมุสลิมที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่งดงาม แล้วอิสลามจะคงมั่นคงอยู่ในหัวใจของลูกน้อย เขาจะถูกเลี้ยงดูด้วยจรรยามารยาทอันประเสริฐ รู้จักสิ่งที่ฮะลาล (อนุญาต) และ ฮารอม (ต้องห้าม) มารดามุสลิมะฮฺที่รักและห่วงใยลูกน้อยอย่างแท้จริง จะต้องสอนให้ลูกรู้จักการเคารพภักดี ยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้าและผลตอบแทนของการดังกล่าว สอนให้เขาได้รู้จักว่าอะไรคือการฝ่าฝืนต่อพระองค์อัลเลาะฮฺ และอะไรคือผลร้ายของการดังกล่าว เมื่อลูกอายุได้ 7 ขวบ แม่ตามแบบฉบับของอิสลามจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระศาสดา ซึ่งทรงกำชับไว้ในเรื่องการเลี้ยงดูบุตรในวัยนี้ว่า... 
ความว่า : ท่านทั้งหลายจงใช้ให้ลูกหลานทำการนมัสการการละหมาดเมื่อพวกเขาอายุได้เจ็ดขวบ จงทำโทษตีเมื่อพวกเขาอายุได้สิบขวบ หากพวกเขาทิ้งการละหมาด และจงแยกที่นอนของพวกเขา 

 

ในขั้นตอนนี้จะต้องให้ความสนใจต่อการอบรมสั่งสอนลูกรักด้วยจรรยามารยาทแห่งอิสลาม อาทิเช่น การซื่อสัตย์ การพูดความจริง และอื่น ๆ ให้เขาได้คุ้นเคยกับการดำเนินชีวิตอันถูกต้องในอิสลามตั้งแต่เยาว์วัย อาทิเช่น เรื่องความสะอาด ความมีระเบียบวินัย และการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น ที่สำคัญตัวผู้เป็นแม่เองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกด้วย โดยจะต้องเคร่งครัดในเรื่องความซื่อสัตย์อย่าพูดเรื่องโกหกต่อหน้าลูก เพราะลูกจะจดจำเป็นแบบอย่างและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องอนุญาตให้กระทำได้ จนเกิดความเคยชินในที่สุด 
ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งผู้เป็นแม่ในอิสลามพึงตระหนักให้มากคือ... การถกเถียงและทะเลาะวิวาท ระหว่างสามีภรรยาต่อหน้าเด็ก สิ่งเหล่านี้อย่าให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด เพราะเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้จะปลูกฝังความสำนึกความรู้สึกว่าขาดเสถียรภาพ และความปลอดภัย เข้าในจิตใจและติดไปกับเด็กอยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้เกิดผลร้ายต่าง ๆ นานา ซึ่งบางครั้งบางคราวอาจเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง ทั้งนี้เพราะการไร้ความมั่นคงของครอบครัวนั่นเอง.. 

 

จากวัย “เด็กเล็ก” ก็จะก้าวสู่ช่วงซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงอื่น ๆ ก็คือช่วงวัยรุ่น แม่มุสลิมะฮฺพึงตระหนักอยู่เสมอว่าลูกของเราที่อยู่ในวัยนี้เขาเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงของการ “บรรลุนิติภาวะ” หรือ รู้ประสาแล้ว... เริ่มรู้จักความรับผิดชอบต่อตนเอง และการกระทำทุกอย่างของเขา คำสั่งของแม่จะทำให้ลูกในวัยนี้รู้สึกว่า.. “ถูกจำกัดอิสระภาพ” ดังนั้นพึงระวังอยู่เสมอในระยะนี้ แม่ต้องทำตัวให้อยู่ในฐานะของเพื่อน พยายามหลีกเลี่ยงจากการออกคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้หรือห้ามก็ตามที รับฟังคำพูดและความคิดเห็นของเขาโดยตลอด แม้ว่าเขาจะกระทำผิดก็ตาม แล้วลูกน้อยของเราก็จะเกิดความวางใจ เชื่อใจ อ่อนน้อม คล้อยตาม และยอมรับฟังคำตักเตือนของเราในที่สุด แม่ที่เข้าใจและห่วงใยลูกอย่างแท้จริง จะต้องไม่ปล่อยปละละเลย หรือเข้มงวดในการควบคุมพฤติกรรมของลูกมากจนเกินไป แต่ทว่า... ต้องให้เกิดความพอดี คอยติดตามดู ความประพฤติอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ตลอดจนหมั่นตรวจสอบอยู่เป็นประจำ ในเรื่องการคบเพื่อน และที่ขาดเสียมิได้ก็คือ... พยายามให้ลูกใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำกิจกรรมที่ดี และสร้างสรรค์ต่าง ๆ 

สิทธิที่บุตรพึงได้รับขณะเยาว์วัย 
ศาสนาอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานในฐานะที่เขาเหล่านั้นคือความโปรดปรานจากองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ซึ่งจะนำเอาความปลื้มปิติยินดี และความสุขที่แท้จริงมาสู่มนุษย์เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีศรัทธามั่นต่อพระองค์ดังพระดำรัสของพระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ในบทอัลกะฮ์ฟี โองการที่ 46 
ความว่า : อันทรัพย์สมบัติและบรรดาลูก ๆ นั้นเป็นเพียงสิ่งประดับในชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น 

 

ด้วยเหตุดังกล่าวอิสลามจึงบัญญัติหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นบนบรรดาผู้ปกครองในลักษณะโดยทั่วไป และบรรดาบิดามารดาทั้งหลายเป็นการเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หน้าที่เหล่านี้คือสิทธิที่บรรดาแก้วตาดวงใจ กุลบุตร กุลธิดาของเราพึงได้รับนับตั้งแต่อายุเยาว์วัย ดังต่อไปนี้ 

 

ประการแรก การฝึกหัดลูก ๆ ทั้งหลายเรื่องการละหมาด เริ่มตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ จวบจนกระทั่งอายุ 10 ขวบ ก็ให้ใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อบังคับให้ปฏิบัติละหมาดนั้นก็คือการดุ การตี หรือตัดสิทธิอื่น ๆ เป็นต้น

 

ประการที่สอง การพาลูกไปมัสยิดเพื่อให้เกิดการคุ้นเคยกับการนมัสการละหมาดด้วยความสมัครใจและรักในอิบาดะห์ ศาสนกิจต่าง ๆ การดังกล่าวนี้คือ สิ่งที่อิสลามอันสูงส่งได้ให้การส่งเสริมอยู่โดยตลอดเวลา

 

ประการที่สาม ให้สอนเรื่องการขออนุญาตขณะต้องการเข้าบ้านเรือน เคหะสถาน หรือสถานที่ส่วนตัวของผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อให้เคยชินกับการรู้จักเคารพและให้เกียรติต่อผู้อื่น เช่นเดียวกัน พ่อแม่ จะต้องสอนมารยาทในการเข้าบ้านตนเองในเวลาต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่วงของการพักผ่อน อันได้แก่มารยาทในการเข้านอน มารยาทในการตื่นนอน ตลอดจนการขออนุญาตต่อพ่อแม่ในกิจการต่าง ๆ ทั้งปวง

 

ประการที่สี่ พ่อแม่จะต้องสอนลูกในเรื่องจรรยามารยาทและคุณธรรมที่สำคัญต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมออาทิ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ การพูดจาที่ไพเราะเสนาะหู การไม่หักหลังทรยศหรือบิดพริ้วในสัญญา การโกหก เป็นต้น วิธีการดังกล่าวนั้นจะยังผลให้ลูก ๆ รู้จักเกียรติและมีหลักการที่ดีในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม 

 

ประการที่ห้า การตักเตือนแนะนำหรือสั่งสอนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พ่อแม่จะต้องกระทำด้วยความนิ่มนวลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับวัยของลูก ควรหลีกเลี่ยงการดุด่า การตำหนิอย่างรุนแรง ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายต่าง ๆ เพราะนั่นคือเป็นการฟูมฟักอุปนิสัยที่หยาบช้าต่าง ๆ ในหัวใจของลูกโดยที่ไม่รู้ตัว พึงสำนึกเสมอว่า เด็กวัยเจริญเติบโตสามารถบันทึกจดจำและฝังใจในสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาได้อย่างรวดเร็วเสมอ ไม่ว่าจะดีหรือเลวก็ตาม อีกทั้งจะลืมเสียมิได้ในอันที่จะต้องสั่งสอนในเรื่องมารยาทที่ดีงามต่าง ๆ อาทิ มารยาทการกินการดื่ม การเข้าห้องน้ำ การเข้าหรือการออกจากบ้านและมารยาทของการสวมใส่อาภรณ์ ฯลฯ มารยาทเหล่านี้จะสรรสร้างลูกหลานของเราให้เติบโตขึ้นเป็นหน่วยหนึ่ง หรือสมาชิกที่ดีมีคุณภาพเปี่ยมล้นด้วยมารยาทและมีระเบียบวินัยในสังคม

 

ประการที่หก พ่อแม่ที่ดีจะต้องให้ความเมตตากรุณา และเอื้ออาทร พร้อมที่จะเสียสละให้ลูกได้เสมอ เพราะเขาเหล่านี้คือความโปรดปรานอันล้นพ้นของพระผู้เป็นเจ้าสู่บรรดาปวงบ่าวทั้งมวล 

 

ประการที่เจ็ด พ่อแม่มุสลิมะฮ์จะต้องเลี้ยงดูกุลบุตร กุลธิดาด้วยความเสมอภาค และเป็นธรรมเนืองนิจ จะต้องไม่แสดงความรัก หรือโปรดปรานลูกคนใดพิเศษ เพราะจะเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การอิจฉาริษยาของลูกบางคน ดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่อิสลามได้ห้ามอีกทั้งสำทับให้ผู้เป็นพ่อแม่จำต้องตระหนักอยู่เสมอ 



ค่าของคน 

มนุษย์ถูกสร้างเพื่อปฏิบัติธรรม 
เป้าหมายอีกประการหนึ่งของการบันดาลสรรสร้างมนุษย์ ซึ่งนอกเหนือจากเพื่อการรู้จักพระผู้ทรงสร้างแล้วก็คือ เป้าหมายเชิงปฏิบัติ พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานได้กล่าวถึงการดังกล่าว ด้วยพระราชดำรัสแห่งองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ในซูเราะห์ ฮู๊ด อายะห์ที่ 7 

ความว่า : และพระองค์ทรงเป็นผู้บันดาลฟากฟ้าและแผ่นดินในหกวาระ ในขณะนั้นบัลลังก์ของพระองค์อยู่บนน้ำ ทั้งนี้เพื่อพระองค์ทรงทดสอบสูเจ้าทั้งหลายว่า มีคนใดบ้างที่ทำการอันดีงามยิ่ง 

 

คำสั่งในโองการข้างต้น มีผลบังคับใช้ต่อมวลมนุษย์ผู้สนองโองการ และมีภาระหน้าที่ตามหลักบัญญัติศาสนา และเป้าหมายของการสร้างฟากฟ้าและพื้นพิภพ อันหมายถึง การยกเหตุผลที่ได้ระบุถึง ก็คือเป้าหมายในเชิงปฏิบัติ เพื่อพระองค์ทรงทดสอบสูเจ้าทั้งหลายว่ามีคนใดบ้างที่ทำการดียิ่ง 

 

ดังนั้น จึงแปลได้ความว่า : องค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงบันดาลฟากฟ้าและแผ่นดินขึ้นมา ก็เพื่อทดสอบมวลมนุษย์ผู้มีภาระหน้าที่ว่า บุคคลใดจะปฏิบัติธรรมความดีมากที่สุด เหล่ามนุษย์ชาติถูกสร้างมาเพื่อปฏิบัติธรรม พวกเขามิได้ถูกบังเกิดมาเพียงเพื่อกิน เพื่อดื่ม เพื่อแสวงความสุขสำราญเพริดแพร้วเท่านั้น หากแต่สิ่งดังกล่าวมันเป็นเพียงสื่อ และปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตเท่านั้น อันโลกดุนยาแห่งนี้พร้อมด้วยสรรพสิ่งที่ดีงามตระการตา แต่ละส่วนถูกบังเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง ส่วนตัวของมนุษย์เรานั้นเล่า มิได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเหตุผลอันใดเลยนอกจากเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า “ดุนยา” นั่นก็คือ เพื่อองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) พระผู้ทรงควบคุมโลกนี้ให้แก่มนุษย์เรา ดังนั้นโลกดุนยาจึงเป็นช่วงเวลาสำหรับการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นอมตะนิรันดร์กาลในโลกแห่งสัมปรายภพอันถาวร 
ฉะนั้น บุคคลที่ความหวัง เป้าหมายและความตั้งใจของเขาในการดำรงชีวิตบนโลกดุนยาแห่งนี้เพื่อการสนองกิเลสตัณหา และแสวงหาความสุขสำราญเพียงอย่างเดียว แน่แท้เขาได้ทำให้ตัวของตนเองต้องถลาตกต่ำจากระดับของสิ่งถูกสร้างซึ่งเป็นผู้แทนแห่งองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ไปสู่ระดับของเดรัจฉานที่ความต้องการของมันมีเพียงแค่ ท้องอิ่ม, ขับถ่าย, ผสมพันธ์ และหลับนอน องค์อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ทรงตำหนิ ติเตียนชาวปฏิเสธที่เฉไฉออกจากหนทางอันเที่ยงตรง ในซูเราะห์ มูฮำหมัด อายะห์ที่ 12 
ความว่า : และบรรดาจำพวกที่ไร้ศรัทธาพวกเขาก็จะเสพสุข (ในโลกนี้) และบริโภค (อย่างตะกุมตะกราม) ประดุจเดียวกับปศุสัตว์ทั้งหลาย และนรกย่อมเป็นที่อยู่ของพวกเขา 
ครั้นเมื่อการกิน การดื่ม และการหาความสุขตามรูปแบบต่าง ๆ ที่ศาสนาอนุญาต มันเป็นเพียงสื่อและเครื่องมือเท่านั้น เพื่อคนเราจะได้สามารถประกอบกิจการงาน และปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนได้ ก็แปลได้ความว่าอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) นั้นแท้ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงบังเกิดมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อจะวัดว่า “ใครกันเล่าที่จะปฏิบัติธรรมและนำมาซึ่งความดีมากที่สุด และใครทำดีที่สุด” 

โดยธรรมชาติของศรัทธาชนแล้ว ย่อมจะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดในทุก ๆ สิ่ง ดังนัยแห่งอัล-กุรอานที่กล่าวถึงคุณลักษณะดังกล่าว ไว้หลายโองการด้วยกันดังเช่นในซูเราะห์ อัซซุมัร อายะห์ที่ 18 
ความว่า : (เขาเหล่านั้นศรัทธาชน) ย่อมปฏิบัติตามสิ่งที่ดีที่สุด ที่ถูกประทานมาสู่เจ้าทั้งหลายจากองค์อภิบาลแห่งสูเจ้าทั้งหลาย 

ขยายความเจตนารมย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างมนุษย์ 
ที่ผ่านพ้นมาทั้งหมด เราได้รับทราบจากโองการต่าง ๆ แห่งอัล-กุรอานเป็นอย่างดี และชัดเจนว่า : มนุษย์เรานั้น คือ จุดประสงค์หลักของการสร้างโลกนี้ทั้งหมด องค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงดลบันดาลให้จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล พร้อมด้วยฟากฟ้าและพื้นปฐพีให้บังเกิดขึ้นมาก็เพื่อให้มนุษย์ ซึ่งเป็น “คอลีฟะตุลลอฮฺ” ได้กระทำหน้าที่ของตนบนหน้าพิภพแห่งนี้ โดยหน้าที่และภาระดังกล่าวประกอบจากโครงสร้างหลัก 2 ประการด้วยกัน 

 

หนึ่ง : โครงสร้างทางด้านความรู้ กล่าวคือ มนุษย์จะต้องรู้จักว่าใครคือพระผู้อภิบาลของเขา และจักรวาลแห่งนี้อย่างถูกต้องตามพระนามอันไพจิตร และคุณลักษณะอันสูงสุดแห่งพระองค์ 

 

สอง : โครงสร้างด้านการปฏิบัติ กล่าวคือ มนุษย์จะต้องปฏิบัติการงานที่ดี ตามบัญชาใช้ และคำสั่งห้ามแห่งองค์อัลเลาะฮฺ (ฆซ.บ. ) ยิ่งไปกว่านั้นเขาจะต้องทุ่มเทความเพียรพยายาม เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การงานที่ดีที่สุด”

อันสรรพสิ่งที่ถูกทำให้มีขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แน่นอน ความมีเกียรติและคุณค่าของสิ่งนั้นจะมีขึ้น ก็ต่อเมื่อมันได้ถูกใช้ หรือทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณภาพ ในทางตรงกันข้ามหากสิ่งเดียวกัน มิได้ถูกใช้ หรือกระทำภารกิจที่จำกัดเฉพาะสำหรับมัน คุณค่าของมันก็ย่อมมลายหายไปด้วยโดยปริยาย 
เฉก เช่น “อาชา” หากมิได้ถูกใช้ในการขับขี่ยามรบทัพจับศึก ก็เป็นเพียงสัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง และ “ดาบกล้า” หากถูกวางไว้เฉย ๆ มิได้ถูกใช้ในการพิชิตศัตรู ก็มีค่าเพียงแค่เหล็กด้ามหนึ่งที่รอคอยวันขึ้นสนิม 
ฉะนั้น มนุษย์ใดก็ตามหากไม่มีคุณสมบัติพร้อมพอที่จะเป็นผู้สืบสานต่อเจตนารมย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่สักการะกราบไหว้ (อิบาดะฮฺ) ต่อพระองค์แล้ว ปศุสัตว์เดรัจฉาน ย่อมมีคุณค่ามากกว่าบุคคลนั้นอย่างแน่นอน ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง องค์อัลเลาะฮฺ ทรงตำหนิและสำทับบรรดาชาวปฏิเสธ ซึ่งไม่ปราถนาปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ในฐานะเป็นบ่าวของพระองค์ในซูเราะห์อัล-ฟุรกอน อายะห์ที่ 44 
ความว่า : พวกเขามิเป็นอื่นใด นอกจากประหนึ่งปศุสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาหลงทางเป็นที่สุด 
ทั้งหมดนี้ คือ คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และฐานันดรของเขาในทัศนะของอิสลาม จุดมุ่งหมายแห่งการมีอยู่ของมนุษย์ ก็คือ เจตนารมย์แห่งพระผู้ทรงสร้าง พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก