อิสลามศาสนาแห่งการดำเนินชีวิต
  • 23 กุมภาพันธ์ 2018 at 08:34
  • 26497
  • 0

อิสลามศาสนาแห่งการดำเนินชีวิต

โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์


ท่านนบีมูฮำหมัด(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า ผู้ศรัทธาที่แข็งแกร่งนั้นดีเยี่ยมและเป็นที่รักยิ่งณ.องค์อัลเลาะฮกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอและคุณความดีมีอยู่ในทุกๆสรรพสิ่ง ท่านจงปกปักรักษาสิ่งที่ยังประโยชน์ต่อท่าน และจงขอความช่วยเหลือต่ออัลเลาะฮ (ซ.บ.) และจงอย่าแสดงความอ่อนแอหากมีสิ่งใดแผ้วพานมาประสบกับท่าน ท่านอย่ากล่าวว่าถ้าหากฉันได้กระทำเช่นนี้ ผลจะเป็นเช่นนี้แต่ทว่าท่านจงกล่าวว่า อัลเลาะฮได้ทรงกำหนดมาแล้ว และสิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็ทรงบันดาลให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แท้จริงคำว่าถ้าหากว่า มันจะเปิดประกายงานของชัยตอนมารร้าย รายงานโดย มุสลิม อิบนูมาญะห์ และอะห์มัด 

คำอธิบาย 
อันที่จริงอิสลามนั้นเป็นศาสนาแห่งความเข้มแข็งที่เชิญชวนมวลผู้ศรัทธาสู่การยึดเหนี่ยวในเหตุ และอิสลามได้ปูทางให้แก่มวลผู้ศรัทธาก้าวเดินไปให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้นๆ ในฮาดิษบทนี้ ท่านรอซูลุ้ลเลาะฮ.(ซ.ล) ได้ยืนยันว่าผู้ศรัทธาที่แข็งแกร่งนั้นดีเยี่ยมและเป็นที่รักยิ่ง ณ.องค์อัลเลาะฮ (ซ.บ.) กว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ 

สรุปประเด็นทางหลักธรรมคำสอนทางศาสนาในฮาดีษบทนี้ซึ่งได้สรุปออกมาเป็น 4 สารัตถะ ที่สนับสนุนให้มวลผู้ศรัทธาพึงขอความช่วยเหลือในอำนาจและพลังจากอัลเลาะฮ(ซ.บ.) ซึ่งไม่มีพลังและเดชานุภาพใดๆ นอกจากพลังแห่งอัลเลาะฮ.(ซ.บ.) ผู้ทรงหนึ่งเดียวเท่านั้น  อีกทั้งการการเสียสละการทุ่มเทเพื่อการต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ของผู้ศรัทธานั้นเขาไม่ระทดท้อและอ่อนแออีกทั้งไม่ยอมสยบต่อผู้ใดเลย  กอรปกับมีความอดทนขันติในภาวะที่ประสบกับภัยพิบัติโดยไม่พิรี้พิไรรำพึงรำพันแต่อย่างใด  และไม่สิโรราบต่อการกระซิบกระซาบของชัยตอนมารร้ายใดๆ เลย  

สารัตถะที่หนึ่ง 
เป็นข้อบัญญัติที่เรียกร้องให้มุฮมินผู้ศรัทธาทุกคนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อฉกฉวยโอกาสและแสวงหาผลประโยชน์ในห้วงเวลา และโอกาสที่เอื้ออำนวยให้และคุณานุประโยชน์ใดๆ ที่มุฮมินผู้ศรัทธาได้โอบกอดไว้ในโลกดุนยาและโลกอาคีเราะฮฺ นั้นก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับมุฮมินที่เขาจะต้องปกปักรักษามันไว้ให้ดีที่สุดอีกทั้งต้องพัฒนาการให้ก้าวเดินไปอย่างไม่หยุดยั้ง  อันทรัพย์สินนั้นจำเป็นสำหรับมุฮฺมินผู้ศรัทธาต้องพากเพียรแสวงหาจากโภคปัจจัยที่ฮาลาลเท่านั้น ส่วนเกียรติยศชื่อเสียงนั้นเล่าก็เป็นหน้าที่ที่มวลมุฮมินผู้ศรัทธาจักต้องทุ่มเทความเพียรพยายามในหนทางของมันเต็มตามศักยภาพ และสรรพกำลังของตนที่มีอยู่ให้ดำเนินอยู่ในกรอบของอิสลามอย่างแท้จริง สำหรับวิทยาการในสาขาแขนงต่างๆ นั้นมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้โลกมีการวิวัฒน์พัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกแห่งชีวิตที่เตรียมพร้อมในการดูแลเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น แพทย์ วิศวะ ครู เพราะสาขาวิชาการเหล่านี้เป็นศาสตร์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่มวลมุฮฺมินผู้ศรัทธาจะต้องศึกษาและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังสำหรับจริยธรรมอันประเสริฐซึ่งต้องใช้ความเพียรพยายามในการฝึกปฎิบัติ ยับยั้งชั่งใจ อดทนขันตินั้นจำเป็นที่มวลมุฮฺมินผู้ศรัทธาจักต้องน้อมตอบรับสิ่งเหล่านั้นด้วยความบริบูรณ์ยิ่งต่อการที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจริยธรรมอันสูงส่ง  ส่วนหลักธรรมะและองค์ความรู้ทางศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งยวดที่มุฮฺมินผู้ศรัทธาทุกคนต้องมีความมุ่งมั่นในการแสวงหาเสบียงแห่งธรรมะทางศาสนาเพื่อเตรียมพร้อมเดินทางสู่มิติหนึ่งแห่งชีวิตในโลกอาคีเราะฮฺ ดังนั้นจำเป็นที่มุฮฺมินทุกคนต้องปฎิบัติภารกิจด้วยความเข้มแข็งอดทนบนพื้นฐานแห่งการสร้างคุณานุประโยชน์ในโลกใบนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือกระบวนการแห่งการขัดเกลาจิตใจ ปลุกจิตใต้สำนึกให้มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา 


สารัตถะที่สอง 
อธิบายถึงการขอความช่วยเหลือต่ออัลเลาะฮ(ซ.บ.) กล่าวคือเป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นเตือนให้มุฮฺมินผู้ศรัทธามีจิตสำนึกต่อภารกิจที่เขาต้องปฎิบัติโดยไม่หันเหออกจากแนวทางของอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ยิ่งไปกว่านั้นมวลผู้ศรัทธาจักต้องคะนึงหาผูกพันกับพระผู้อภิบาลของเขาอย่างต่อเนื่องเพราะแท้ที่จริงแล้วพระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) จักทรงเปิดทาง (แห่งความสะดวกง่ายดายให้แก่เขา) คราใดที่เขาได้เข้าไปสู่การปฎิบัติภารกิจหน้าที่การงานแน่นอนเขาจะมีความรู้สึกว่า พละกำลังและความสามารถแห่งความเป็นมนุษย์นั้นมีขอบเขตที่จำกัดอย่างมาก สรรพกำลังของเขาที่เขาวาดหวังเอาไว้มันก็จะถดถอยอ่อนแอลง เพราะฉะนั้นจำเป็นที่มนุษย์จะต้องขอความช่วยเหลือและความสัมฤทธิผลจากพระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) เพื่อที่จะรับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) และดำเนินชีวิตอยู่ในแนวทางของพระองค์อย่างมั่นคงในอันที่จะนำพาเขาไปสู่สิ่งที่เขาพึงปรารถนาที่จะให้บรรลุไปสู่สิ่งที่วาดหวังเอาไว้ด้วยการกระทำสิ่งนั้นๆ เต็มตามศักยภาพของตนเองที่มีอยู่ ดังนั้นขอพระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคขวากหนามและอื่นๆให้หมดสิ้นไปจากมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย เนื่องด้วยเหตุที่มวลผู้ศรัทธาได้ขอความช่วยเหลือต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) อยู่เป็นอาจิณโดยที่พระองค์ทรงกำชับให้เราทุกคนอ่านในทุกๆ รอกาอัตของการละหมาดทุกๆ เวลาด้วยถ้อยคำ (เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เรานมัสการกราบไหว้และขอความช่วยเหลือ) และในขณะเดียวกันพระองค์ทรงกำชับให้มวลมุฮฺมินผู้ศรัทธาทำการกล่าวรำลึกถึงพระผู้อภิบาลให้มากที่สุดในขณะที่พวกเขาออกศึกสงครามสู้รบกับศัตรู ดังที่พระองค์ทรงดำรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าพบข้าศึกกลุ่มหนึ่งพวกเจ้าก็จงตั้งมั่น (ในการเผชิญกับข้าศึกนั้น) และพวกเจ้าจงรำลึกถึงอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ให้มากเถิดเพื่อพวกเจ้าจะได้ประสบความสมหวัง (ซูเราะฮฺ อัลอัมฟาล โองการที่ 45 ) 


สารัตถะที่สาม 
เล่าจากท่านอานัส บินมาลิก (ร.ด.) ว่า ท่านรอซูลลุลเลาะฮ.(ซ.ล.) เคยกล่าวไว้ในการขอพรของท่านว่า 
ความว่า "โอ้อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความอ่อนแอ และความเกียจคร้าน ความขี้ขลาด ความตระหนี่ จากคำสอนของท่านรอซูลลุ้ลเลาะฮฺ (ซ.ล.) ในบทนี้ชี้ให้เห็นว่า ท่านศาสนฑูติแห่งเราได้ขอความคุ้มครองจากอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ให้รอดพ้นจากสิ่งดังกล่าวนั้น ด้วยเหตุนี้เองชิงชังกับความเกียจคร้านและประกาศทำสงครามกับบุคคลที่นั่งงอมืองอเท้าโดยไม่ทำมาหากินแต่อย่างใดเลย(อัตตะวากุ้ล) ยิ่งไปกว่านั้นอิสลามมิพึงปรารถนาให้มุฮ.มินมวลผู้ศรัทธาอยู่ในภาวะที่อ่อนแอซึ่งมันจะทำให้เขาต้อยต่ำด้อยค่าและไม่ปราถนาให้เขาเกียจคร้านกระทั่งทำให้เขาต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นเป็นอาจิณหรือละเลยต่อภาระหน้าที่ของตัวเองจนกระทั่งทำให้เขาต้องตกอยู่ในความล้าหลังทั้งๆ ที่ภารกิจเหล่านี้มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เขาจะต้องยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใดเลย สุดท้ายสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เขามีเกียรติและมีศักดิ์ศรี 


สารัตถะที่สี่ 
ฮาดิษบทดังกล่าวนี้ได้วางกรอบให้มุฮมินผู้สรัทธาทุกคนปิดประตูแห่งความเพ้อฝันจินตนาการและฝันเฟื่องแห่งชีวิต เพราะมุฮฺมินนั้นเขาจักต้องดำเนินชีวิตของเขาเพื่อวันพรุ่งนี้ให้ดีที่สุดมิใช่ดำเนินชีวิตเพียงแค่วันวานอย่างเดียว แต่เขาต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับชีวิตจริงมิใช่เพียงแค่ความฝันและกลลวง ดังนั้นเมื่อมนุษย์ทุกคนดำเนินชีวิตอยู่ในโลกใบนี้เพียงเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงหรือเป้าหมายเป้าหมายใดแห่งโลกดุนยา ซึ่งบางครั้งเขาก็ประสบความล้มเหลวหรือเผชิญกับอุปสรรคใดๆ เขาก็น้อมรับสิ่งที่มากีดขวางเส้นทางของเขาด้วยวิญญาณแห่งมุฮฺมินผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งเขารู้ดีว่าสิ่งต่างๆ ที่แผ้วพานมาประสบกับเขานั้นมันคือการลิขิตและพระประสงค์ของอัลเลาะฮฺทั้งสิ้น อันที่จริงมุฮ.มินผู้ศรัทธามีความเชื่อมั่นว่าการลิขิต (กอดัร) นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้นว่าเขาทำเช่นนั้นมันก็จะไม่เปลี่ยนในสิ่งที่เขากระทำ ดังเช่นคนๆ หนึ่งเขาได้ตายไปเนื่องจากความเจ็บป่วยที่มาประสบกับเขาโดยที่ไม่มีสิ่งใดที่มาเยียวยาให้เขาหายจากความเจ็บป่วยได้แม้นว่าจะมีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาเยียวยารักษาเขาก็ตาม หรืออีกกรณีของคนๆ หนึ่งที่เขาแพ้คดีความไม่สามารถต่อสู้คดีให้ชนะความได้แม้นว่าเขาจะมีทนายความที่เก่งกาจเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาสู้คดีให้ก็ตามโดยเหตุนี้เองมุฮฺมินผู้ศรัทธาอย่าให้ความเศร้าโศกาและความระทมทุกข์มาเป็นอุปสรรคต่อการกลับตัวกลับใจต่อความผิดพลาดในสิ่งที่ผ่านมาอย่าให้ชัยตอนมารร้ายมาครอบงำพื้นที่ของหัวใจจนตกเป็นทาสของมันอย่าให้เวลาที่ผ่านมาในชีวิตของเราผ่านพ้นไปโดยไร้สาระและเปล่าประโยชน์ 


บทเรียนจากอัลฮาดิษ 

  1. มุฮมินผู้ศรัทธาทุกคนจะต้องยืนหยัดบนหลักความเชื่อ หลักศรัทธา เจตนารมณ์ สติปัญญา และจริยธรรมของเขาให้มีความเข้มแข็งมั่นคงอยู่เสมอ 
     
  2. การประพฤติปฏิบัติของมุฮมินผู้ศรัทธาจะต้องมีความจริงจังและจริงใจในการปฏิบัติและต้องพากเพียรแสวงหาในหนทางที่จะได้มาเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมด้วยเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีอันแข็งแกร่ง 
     
  3. มุฮมินผู้ศรัทธาจักต้องเพียรพยายามแสวงหาสิ่งที่ยังประโยชน์แก่เขา ครอบครัว สังคมแห่งอัลอิสลามในทุกๆมิติของชีวิตทั้งในโลกดุนยาและอาคีเราะฮ.โดยเหตุนี้เองอิสลามมิใช่เป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์นั่งงอมืองอเท้าไม่ทำมาหากินรอให้โภคปัจจัยไหลหลั่งเข้ามาและก็มิได้สอนให้ยึดติดเป็นนักบวช นักพรตสละโลกและโดดเดี่ยววิเวกตัวเองออกจากมิติของโลกนี้แต่อย่างใดเลย
     
  4. อะกีดะฮ.ของมุสลิมถูกวางอยู่บนฐานแห่งการพึ่งพาในเดชานุภาพของอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ในการประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อย่าได้สิ้นหวังในพระเมตตาธิคุณของพระองค์ อีกทั้งมวลผู้ศรัทธานั้นอย่าได้เชื่อมั่นพลังในตัวของเขาเองเพียงอย่างเดียวเพราะบางทีในบางสถานการณ์เขาอาจจะเผชิญกับอุปสรรคนานัปการและความทุกข์ยากลำบากโดยที่เขามิอาจหลุดพ้นจากวังวนแห่งการนั้นได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและทางออกแห่งความสะดวกง่ายดายจากพระองค์ 
     
  5. อิสลามมิใช่เป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์ครองชีวิติของตัวเองให้อยู่ในภาวะที่อ่อนแอนั่งงอมืองอเท้าโดยไม่ทำมาหากิน หมดอาลัยตายอยากสิ้นหวังในความเมตตาของอัลเลาะฮ.(ซ.บ.)โดยการพึ่งพาขอต่อผู้อื่นเป็นอาจิณเพราะฉนั้นอิสลามไม่สนับสนุนอีกทั้งประณามพฤติกรรมการขอทานและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นอาชีพ 
     
  6. อิสลามมิใช่เป็นศาสนาที่สั่งสอนให้ผู้คนฝันเฟื่องเพ้อฝันลมๆแล้งๆและจมปลักอยู่กับอดีตแห่งความรันทดระทมทุกข์ ฉนั้นอิสลามจึงเป็นศาสนาแห่งการสร้างสรรค์มิใช่เพื่อการทำลายอีกทั้งเป็นศาสนาแห่งการดำเนินชีวิตที่มั่นคงแข็งแกร่งไม่สยบยอมแพ้ต่อความอ่อนแอใดๆ เลย