การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระบบอิสลาม
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 16:13
  • 3690
  • 0

 

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระบบอิสลาม

 

โดย อ.อาลี เสือสมิง

 

 

ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับปัจจัยเหตุหลายประการ ซึ่งแต่ละปัจจัยเหตุล้วนแต่มีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม อาทิเช่น ปัญหาการเมืองการปกครอง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาค่านิยมของผู้คนในการบริโภค-อุปโภค ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาทางการศึกษา ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งสิ้น

 

ดังนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงต้องเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นในระดับจุลภาคหรือมหัพภาค เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งจะมีความมั่นคงและรุดหน้าในการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้จำต้องพึ่งพาปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น รัฐบาลมีเสถียรภาพ ระบบราชการมีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค ประชาชนมีเสรีภาพและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รัฐและองค์กรของรัฐมีธรรมาภิบาลในการบริหารการจัดการงบประมาณ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น

 

หากประเทศใดมีรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ มีปัญหาการเมืองที่รุนแรง รัฐไม่ใส่ใจในการปราบปรามอาชญากรรมอย่างจริงจัง มีนักการเมืองที่ทุจริตและแสวงหาประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง ประเทศนั้นก็ย่อมมีความตกต่ำในด้านเศรษฐกิจและต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ในปัจจุบันมีระบอบเศรษฐศาสตร์หลักอยู่ 3 แบบ กล่าวคือ แบบทุนเสรีนิยม ซึ่งกำลังประสบปัญหาวิกฤติอยู่ในขณะนี้ แบบที่สอง คือ ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งล่มสลายไปแล้ว แบบที่สามคือ ระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลาม ซึ่งกำลังได้รับการพิสูจน์และทดสอบจากสภาวการณ์ของโลกที่สูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบอบสองแบบแรกและกำลังมองหาทางเลือกที่สาม

 

และระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลามก็คือทางเลือกที่สามนั้น สำหรับประชาคมโลกในอนาคตอันใกล้ ต่อคำถามที่ว่าเศรษฐศาสตร์อิสลามมีแนวทางและหลักการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร? เราสามารถนำเสนอแนวทางและหลักการดังกล่าวได้พอสังเขปดังนี้ คือ

 

การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระบบอิสลาม มีดังนี้

 

1. ด้านศีลธรรม-คุณธรรม

 

  • ระบบเศรษฐกิจต้องมีมาตรฐานทางศีลธรรมเป็นตัวควบคุมจะแยกออกจากกันมิได้
     
  • การอุปโภค-บริโภคต้องเป็นที่อนุมัติตามหลักศาสนบัญญัติ กล่าวคือ ผู้บริโภคและผู้ผลิตเครื่องอุปโภค-บริโภคต้องหลีกห่างจากสิ่งต้องห้าม (หะรอม)
     
  • รูปแบบการทำธุรกิจ, การค้าขายแลกเปลี่ยน, การทำสัญญาข้อตกลง การทำธุรกรรมต้องสอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติและปลอดดอกเบี้ย การทุจริตและการเอาเปรียบ
     
  • ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจต้องมีคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต, ผู้ใช้แรงงาน, นายจ้าง, ผู้ให้บริการและผู้บริโภค
     
  • ต้องยึดหลักความพอดีและความพอเพียง ไม่โลภโมโทสัน ไม่มักมาก, ไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย

 

2. ด้านการผลิต

 

  • ผลิตภัณฑทุกชนิดต้องเป็นสิ่งที่อนุมัติตามหลักศาสนบัญญัติและมีประโยชน์ในการอุปโภค-บริโภค
     
  • กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องสอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติ กล่าวคือ ต้องไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งวัตถุดิบ แหล่งเงินทุน สถานประกอบการ เป็นต้น
     
  • สถานประกอบการจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและรัดกุมในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและหลีกห่างจากการสร้างมลภาวะเป็นพิษเพราะหลักคำสอนของศาสนาถือว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมและการสร้างมลภาวะเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเป็นการสร้างความวิบัติเสียหายบนหน้าแผ่นดิน

 

3. ด้านการตลาด

 

  • การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและผลิตภัณฑ์ตลอดจนเครื่องอุปโภคต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาที่บัญญัติเอาไว้ 
     
  • ผู้เกี่ยวข้องกับกลไกลตลาดต้องมีคุณธรรม กล่าวคือ มีความซื่อสัตย์ ไม่ทุจริตหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นการทำโฆษณาสินค้า การนำเสนอสินค้า การชั่งตวงสินค้า ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการกักตุนสินค้าหรือแสวงหาผลกำไรเกินจริง ทั้งนี้การโฆษณาเกินจริง การนำเสนอสินค้าโดยหลอกลวงผู้บริโภค และการกักตุนสินค้าในยามวิกฤติถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ 
     
  • จัดตั้งกลุ่มคณะบุคคลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้า การกำหนดราคาสินค้า และมาตราชั่งตวงให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เรียกกลุ่มคณะบุคคลหรือองค์กรนี้ว่า อัล-ฮิสบะฮฺ (اَلْحِسْبَةُ)
     
  • กลไกตลาดจะต้องไม่ถูกแทรกแซงหรือบิดเบือนจากสภาพความเป็นจริง โดยปล่อยให้กลไกตลาดดำเนินไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน ยกเว้นในกรณีเกิดวิกฤติรัฐสามารถเข้าแทรกแซงกลไกตลาดได้ตามความจำเป็น
     
  • ส่งเสริมการตลาดภายในประเทศให้มีความมั่นคง ลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าด้วยการสนับสนุนภาคการผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจอิสลามจะเน้นการพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างบุคลากรผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ การสนับสนุนกลุ่มองค์กรทางการค้าและพาณิชย์โดยใช้หลักฟัรฎูกิฟายะฮฺ กล่าวคือ สังคมหนึ่งหรือประชาคมหนึ่งต้องมีบุคลากรที่พอเพียงในการตอบสนองความต้องการของสังคมหรือประชาคมนั้น ๆ หากมีการละเลยในสิ่งดังกล่าว ก็ถือว่าสังคมและประชาคมนั้นต้องรับผิดชอบโดยทั่วกัน ในกรณีนี้รัฐจึงต้องสนับสนุนให้มีการสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าและเครื่องอุปโภคที่ผลิตโดยประชาชนของรัฐ อาทิเช่น รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์อิเลคโทรนิค ฯลฯ
     
  • เปิดตลาดการค้ากับกลุ่มประเทศใกล้เคียงที่มีเส้นพรมแดนติดต่อกันโดยผ่านระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายถึงกัน ทั้งนี้เป็นการประยุกต์ใช้หลักคำสอนของอัลกุรอาน และการทำการค้าของชาวอาหรับที่ระบุเอาไว้ในสูเราะฮฺกุรอยช์และสูเราะฮฺอื่น ๆ

 

4. ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 

  • สำรวจแหล่งทรัพยากรภายในประเทศและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและรัดกุมในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
     
  • ทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นสิ่งถูกสร้างที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่มนุษย์ในการใช้สอยและเอาประโยชน์ ดังนั้นรัฐจึงมีภารกิจในการบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเป็นระบบและเข้มงวดในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากการทำลายและการผูกขาดของนายทุน
     
  • การพัฒนาใด ๆ ทางด้านเศรษฐกิจต้องคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ตลอดจนต้องคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คน
     
  • รัฐต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อสร้างผลผลิตและรายได้แก่ประชาชน ทั้งนี้อาศัยหลักการว่าด้วยเรื่องอิหฺยาอุล-มะวาต ในนิติศาสตร์อิสลามมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นที่ดินทำกินแก่ชนชั้นล่างที่ยากจน เรียกหลักการนี้ว่า อัล-ฮิมา อันหมายถึง ที่ดินที่รัฐจัดสรรไว้เฉพาะผู้ยากจนในการอยู่อาศัยและทำกิน

 

5. ด้านแหล่งเงินทุน

 

  • จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีระบบการบริหารการจัดการ ที่สอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติ
     
  • สร้างระบบการเงินและการคลัง ตลอดจนการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ปลอดดอกเบี้ย อาทิเช่น กองทุนกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย, ธนาคารอิสลาม, ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์วิถีอิสลาม เป็นต้น
     
  • แหล่งที่มาของรายได้อันเป็นงบประมาณของรัฐต้องปลอดจากสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนบัญญัติ กล่าวคือ รัฐต้องไม่หารายได้เข้าสู่การคลังด้วยการมอมเมาประชาชน เช่น การพนันในรูปแบบต่าง ๆ ไม่สนับสนุนธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น การผลิตสุรา ธุรกิจทางเพศ ฯลฯ เนื่องจากรายได้และเงินภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจการค้าและการมอมเมาประชาชนจะสร้างผลเสียในระยะยาวและใหญ่หลวง ซึ่งรัฐต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนบัญญัตินั้นมากกว่ารายได้และภาษีที่เก็บได้มากกว่าหลายเท่าตัว จึงถือว่าได้ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียงบประมาณในด้านสาธารณสุขและความมั่นคงภายในประเทศอันเกิดจากปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคมและศีลธรรม ปัญหาคุณภาพชีวิต ฯลฯ
     
  • จัดระบบซะกาตให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะทรัพย์ซะกาตถือเป็นแหล่งเงินทุนที่ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด อีกทั้งทรัพย์ซะกาตยังถือเป็นแหล่งรายได้ของรัฐที่จะนำมาใช้ในด้านสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์และสาธารณภัย ตลอดจนการพัฒนาสาธารณูปโภคอีกด้วย

 

6. ด้านแรงงานและการประกอบอาชีพ

 

  • การประกอบอาชีพและการใช้แรงงานในแต่ละสาขาอาชีพต้องเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติ
     
  • เจ้าของกิจการต้องมีคุณธรรมด้วยการจ่ายค่าแรงอย่างยุติธรรมและเหมาะสมกับสาขาอาชีพ ไม่เอาเปรียบและขูดรีด
     
  • ผู้ใช้แรงงานต้องมีการพัฒนาฝีมือและทักษะในการทำงานตามสาขาอาชีพของตนอยู่เสมอ ตลอดจนมีความซื่อสัตย์และขยันขันแข็งในการทำงาน เพราะการทำงานถือเป็นการประกอบศาสนกิจอย่างหนึ่ง หากผู้ใช้แรงงานมีเจตนาที่ดี และใช้แรงงานในสาขาอาชีพที่ถูกต้องตามหลักของศาสนบัญญัติ
     
  • ผู้ใช้แรงงานต้องรู้จักอดออมมัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่าย และไม่ข้องแวะกับอบายมุข
     
  • รัฐต้องสร้างงานและกระจายการสร้างงานสู่สังคมชนบทด้วยการสนับสนุนอาชีพเสริมแก่ผู้คนในท้องถิ่น โดยรัฐต้องรับผิดชอบในการจัดหาตลอดรองรับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอาชีพเสริมนั้น เป็นต้น

ที่มา : http://www.alisuasaming.com