สตรีในสังคมมุสลิม
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 15:53
  • 9805
  • 0

สตรีในสังคมมุสลิม

ข้อเขียนของ... ดร.ยูซุฟ ก็อรฎอวีย์
ถอดความโดย... ฏ็อบรอนีย์ บิลล่าเต๊ะ

 

ผู้มีอคติต่ออิสลามบางคนพยายามกระพือความเข้าใจว่าอิสลามกักขังสตรีไว้แต่ในบ้านและจะออกไปข้างนอกก็ต่อเมื่อร่างต้องถูกฝังในหลุมศพ

อัลกุรอานและซุนนะฮ์บัญญัติไว้เช่นนั้นจริงหรือ? ประวัติศาสตร์ของสตรีมุสลิมในยุคสามร้อยปีแรกซึ่งเป็นยุคที่ประเสริฐที่สุดจารึกไว้เช่นนั้นจริงหรือ?

ไม่ใช่! ไม่ใช่! และไม่ใช่!

อัลกุรอานกำหนดให้ชายและหญิงเป็นหุ้นส่วนของกันและกันในภารกิจอันยิ่งใหญ่คือ การส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว ดังปรากฏในซูรอฮ์เตาบะฮ์อายะฮ์ 71

ความว่า "อันผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงนั้นต่างเป็นผู้ช่วยเหลือของกันและกันในหน้าที่ส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว ดำรงรักษาละหมาดจ่ายซะกาตและการภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์"

ในการนำหลักการดังกล่าวมาใช้ สตรีคนหนึ่งได้ทักท้วงข้อผิดพลาดของคอลีฟะฮ์อุมัร (รอฎิฯ) ขณะที่คอลีฟะฮ์กำลังกล่าวปราศรัยกับสาธารณชน ทำให้คอลีฟะฮ์ล้มเลิกความตั้งใจและกล่าวยอมรับว่า "ผู้หญิงคนนั้นพูดถูกและอุมัรผิด"

ท่านศาสดาก็ได้กล่าวไว้ว่า "การแสวงหาความรู้เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน" (ประมวลวจนะฉบับอิบนุมาญะฮ์ลำดับที่ 224)

นักวิชาการอิสลามต่างเห็นพ้องต้องกันว่าหน้าที่ดังกล่าวถูกกำหนดไว้สำหรับสตรีเช่นเดียว กับบุรุษสตรีจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เพื่อให้มีหลักอุดมคติที่ถูกต้อง ประกอบอิบาดะฮ์ได้อย่างสมบูรณ์ มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมทั้งในด้านการแต่งกาย เครื่องประดับ และอื่น ๆ รู้จักสิ่งที่หะลาลและสิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม) เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของตน รวมทั้งสตรีสามารถเพิ่มพูนความรู้ได้จนถึงขั้นอิจติฮาด (การวินิจฉัยปัญหาด้วยตนเอง)

สามีไม่มีสิทธิห้ามภรรยาในเรื่องการศึกษาที่จำเป็นหากตัวสามีเองไม่สามารถสอนภรรยาได้ ทั้งนี้ สตรีในยุคบรมศาสดา (ซอหาบียาต) ต่างก็เดินทางไปหาท่านศาสดาเพื่อแสวงหาความรู้และขอคำชี้แจงจากท่านในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกนาง แม้จะมีความอายอยู่บ้าง แต่ความอายก็ไม่สามารถขัดขวางพวกเธอในการทำความเข้าใจกับศาสนาได้

การละหมาดญะมาอะฮ์

ไม่จำเป็นสำหรับสตรีมุสลิมและบางครั้งการละหมาดที่บ้านอาจประเสริฐกว่าการละหมาดที่มัสยิด แต่ถึงเช่นนั้นสามีก็ไม่มีสิทธิห้ามภรรยาหากเธอประสงค์จะไปละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิด บรมศาสดาบอกว่า "พวกท่านอย่าได้ห้ามบ่าวหญิงของอัลลอฮ์มิให้ไปมัสยิดของอัลลอฮ์" (ประมวลวจนะฉบับมุสลิม)

สตรีมุสลิมสามารถออกจากบ้านได้หากนางมีกิจธุระของตนเองหรือของสามีหรือ ของลูก ๆ ท่านหญิงอัสมาอ์บุตรสาวของอบูบักร (รอฎิฯ) เคยออกจากบ้านไปยังถ้ำอันเป็นที่ซ่อนตัวของบรมศาสดาและอบูบักรพ่อของเธอ เพื่อนำอาหารไปให้กับบุคคลทั้งสอง

สตรีมุสลิมสามารถร่วมไปในกองทัพได้เพื่อทำหน้าที่พยาบาลและภารกิจอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของนาง

ในประมวลจนะฉบับบุคอรีย์ระบุว่า รุไบยิอ์ บินติ มุเอาวัซ (รอฎิฯ) เคยร่วมออกไปกับกองทัพของบรมศาสดา โดยทำหน้าที่ให้น้ำแก่ทหาร พยาบาลคนเจ็บ และนำคนตายกลับสู่มดีนะฮ์

ในประมวลวจนะฉบับมุสลิมก็ระบุว่า อุมมุอะตียะฮ์ (รอฎิฯ) ก็เคยทำหน้าที่อย่างเดียวกับรุไบยิอ์ โดยอุมมุอะตียะฮ์เข้าร่วมสงครามถึงเจ็ดครั้ง

ภารกิจเหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่เหมาะสมกับธรรมชาติของสตรี หากให้นางต้องแบกอาวุธเข้าฟาดฟันอริศัตรูหรือเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพย่อมเป็นการมอบหมายหน้าที่ที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของความเป็นผู้หญิง แต่หากสถานการณ์อยู่ในภาวะจำเป็น ผู้หญิงก็ต้องร่วมรบกับผู้ชายเท่าที่สามารถทำ ได้ ซึ่งเรื่องนี้อุมมุสะลีม (รอฎิฯ) ก็เคยทำมาแล้วในสงครามหุนัยน์ ส่วนในสงครามอุฮุด อุมมุอิมารอฮ์ (รอฎิฯ) ก็ได้ประกอบวีรกรรมอันห้าวหาญจนได้รับการยกย่องจากบรมศาสดา (ซ็อลฯ) และในสงครามริดดะฮ์ อุมมุอิมารอฮ์ก็ได้ร่วมรบอีกครั้ง นางกลับมาเมื่อมุซัยละมะฮ์ถูกสังหารแล้ว โดยที่ เนื้อตัวของนางมีบาดแผลถึงสิบแห่ง

แม้ในบางยุคสมัย สตรีมุสลิมจะถูกกักกันมิให้แสวงหาความรู้และต้องอยู่แต่ในบ้านเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง ทั้งสามีก็มิได้ให้การศึกษาแก่นาง และไม่อนุญาตให้นางออกไปเพื่อหาความรู้ แม้กระทั่งการละหมาดที่มัสยิดก็เป็นเรื่องต้องห้าม ปรากฏการณ์เช่นนี้เราต้องเข้าใจว่าเกิดจากความ อวิชา ความโง่เขลา และความเบี่ยงเบนจากแนวทางของศาสดา เป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อสตรีอย่างสุดโต่ง ซึ่งอัลลอฮ์มิได้ทรงบัญญัติให้ทำเช่นนั้นและอิสลามไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ต่ออุตริกรรมที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ปฏิบัติต่อสตรี

อิสลามวางมาตรการอันเหมาะสมไว้สำหรับปฏิบัติต่อสตรี ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจสรุปได้ดังนี้.-

  1. ปกป้องสถานภาพความเป็นสตรีเพศที่พระเจ้าทรงสร้างไว้ และคุ้มครองสตรีจากชายโฉดที่เห็นเธอเป็นเครื่องบำเรอกาม และปกป้องเธอมิให้ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไรของผู้ละโมบ
     
  2. อิสลามให้ความเคารพต่อภารกิจอันสูงส่งของเพศแม่ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบความพิเศษต่าง ๆ ให้มากกว่าเพศชายในแง่ความห่วงหาอาทร ความละเอียดอ่อน และการตอบสนองที่รวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ คือ การสร้างอนุชนแห่งอนาคต
     
  3. อิสลามถือว่า "บ้านคืออาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของสตรี" เธอคือราชินีและเป็นเสาหลักของอาณาจักรนี้ อิสลามถือว่าภารกิจของสตรีในการดูแลบ้านเรือน การเอาใจใส่สามี และการอบรมเลี้ยงดูลูกเป็น อิบาดะฮ์และเป็นการญิฮาด อิสลามจึงต่อต้านระบบทุกระบบที่จะทำให้อาณาจักรของสตรีแห่งนี้ พังทลายลง
     
  4. อิสลามประสงค์จะสร้างครอบครัวแห่งความสุขซึ่งก่อตัวจากความเชื่อมั่นในกันและกัน มิใช่ครอบครัวที่สามีภรรยาต่างระแวงแคลงใจอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา
     
  5. อิสลามอนุญาตให้สตรีทำงานนอกบ้านได้ ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมกับความเป็นสตรีเพศของนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวนางหรือครอบครัวของนางมีความจำเป็นต้องอาศัย น้ำพักน้ำแรงของนางหรือสังคมกำลังมีความต้องการการเสียสละของนาง เช่น ต้องการครูที่จะช่วยสอนนักเรียน หรือคนเจ็บต้องการพยาบาลดูแล เป็นต้น
     

เงื่อนไขการทำงานนอกบ้านสำหรับสตรีมุสลิม

  1. ต้องเป็นงานที่หะลาลตามหลักศาสนา มิใช่งานที่ศาสนาห้ามหรือเป็นงานที่ชักนำไปสู่สิ่งต้องห้าม เช่น การเป็นเลขานุการิณีส่วนตัวของผู้จัดการชาย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสองต่อสองกับนายจ้างอยู่เสมอ
     
  2. ต้องประพฤติตนตามแบบฉบับของสตรีมุสลิมยามที่ต้องอยู่นอกบ้าน เช่น ในการแต่งกายซึ่งอัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในซูรอฮ์อันนูร อายะฮ์ 31 ว่า ต้องไม่เปิดเผยเครื่องประดับใด ๆ ยกเว้นบางส่วนที่อนุญาตเท่านั้น (ที่ใบหน้าและฝ่ามือ) การเดินซึ่งอัลลอฮ์ทรงรับสั่งไว้ในที่เดียวกันว่า อย่าพยายามเดินในท่าระทดระทวยหรือเดินแบบกระทืบเท้าเพื่อให้ได้ยินเสียงประดับในร่างกายของตน การพูดจาซึ่งอัลลอฮ์ทรงรับสั่งว่า ให้พูดจาดี ๆ อย่าใช้สุ้มเสียงยั่วยวนชาย (อัลอะห์ซาบ : 32)
     
  3. ต้องเป็นงานที่ไม่ทำให้ภารกิจอื่นของสตรีซึ่งจำเป็นมากกว่างานนอกบ้านต้องเสียหาย เช่น การทำงานนอกบ้านทำให้ภารกิจการดูแลสามีและงานในบ้านทุกอย่างเสียหาย ถ้าเป็นเช่นนี้สตรีก็ควรงดงานดังกล่าวเสีย.