มัสยิด การเมือง และสินบน (ตอน 1)
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 15:29
  • 13363
  • 0

มัสยิด การเมือง และสินบน (ตอน 1)

 

โดย...  วิสุทธิ์    บิลล่าเต๊ะ

 

         เมื่อครั้งที่บรมศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) อพยพออกจากมักกะฮฺไปยังนครมดีนะฮฺนั้น สิ่งแรกที่ท่านลงมือทำเมื่อไปถึงก็คือ การก่อสร้างมัสยิด นับแต่อิฐก้อนแรกถูกวางลงตราบจนมัสยิดก่อรูปก่อร่างสมบูรณ์ สิ่งที่เกิดเคียงกันไปก็คือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในมดีนะฮฺ จากสังคมที่ถือเชื้อชาติเป็นใหญ่สู่สังคมที่ยึดหลักธรรมของศาสนาเป็นสรณะ จากความแตกแยกเนื่องจากแย่งกันเป็นใหญ่สู่ความปรองดองภายใต้ร่มธงอิสลาม... จากความรักสุดขั้วที่มีต่อบรรพบุรุษสู่ความรักสุดซึ้งที่มีต่อบรมศาสดา (ซ็อลฯ)... จากชีวิตเสเพลไร้สาระสู่ความเป็นแก่นสารและคุณค่าแห่งชีวิต... จากความเป็นปัจเจกสู่ระบบญะมาอะฮฺ ทั้งหมดมิได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย ไร้การวางแผน แต่ดำเนินไปภายใต้แสงสว่างแห่งทางนำจากอัลลอฮฺ การวางแผนอย่างรอบคอบและกุศโลบายอันชาญฉลาดของบุคคลที่พระองค์ทรงคัดเลือกให้เป็นผู้นำมนุษยชาติ คือ ศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) 

         เส้นทางเดินอันแจ่มชัดนี้ เริ่มต้นที่มัสยิดซึ่งท่านได้สร้างไว้ มัสยิดโดยบทบาทและหน้าที่หลักจึงอยู่ที่การสร้างคุณค่าแก่สังคมมนุษย์ เป็นคบเพลิงขับไล่ความมืดมิดและนำสังคมสู่ความเรืองรองแห่งอารยธรรมบนเส้นทางสู่เป้าหมายของการเป็นมัสยิด นับแต่ยุคบรมศาสดาตราบถึงปัจจุบัน ไม่เคยว่างเว้นการต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามต่าง ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงสังคม ย่อมหนีไม่พ้นการกระทบกับความเชื่อบางประการและ/หรือผลประโยชน์บางอย่างของคนบางกลุ่ม   ทั้งการนำมนุษยชาติสู่เป้าหมายชีวิตตามแบบฉบับอิสลาม และการวางแผนเพื่อสร้างรูปแบบปฏิสัมพันธ์อันเหมาะสมกับกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นขัดแย้ง ซึ่งเน้นหนักไปที่  สันติวิธีหรือการใช้กำลังหากไม่มีทางเลือกอื่น ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ามัสยิดในอิสลามเป็นสถาบันทางสังคมและการเมือง มากกว่าการเป็นเพียงสถานประกอบศาสนกิจของปัจเจกบุคคล จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์อัลลอฮฺจะทรงตรัสถึงผู้สร้างคุณค่าและความจำเริญแก่มัสยิด (อิมารอฮฺ) ว่า “นอกจากจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาด (ที่มัสยิด) อย่างสม่ำเสมอ จ่ายซะกาตครบถ้วนแล้ว อีกลักษณะหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ เป็นผู้ที่ไม่กริ่งเกรงสิ่งใดนอกจากอัลลอฮฺเจ้าเท่านั้น”   (ซูรอฮฺเตาบะฮฺ : 18)

        จะมีประโยชน์อันใดกับการระบุคุณสมบัติของผู้สร้างความรุ่งเรืองแก่มัสยิดว่า ต้องไม่กริ่งเกรงสิ่งใดนอกเหนือจากอัลลอฮฺ หากมัสยิดมีหน้าที่เพียงแค่รองรับผู้มาละหมาด โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับสภาวการณ์ของสังคมและบ้านเมือง แท้จริงแล้วการละหมาดญะมาอะฮฺและการจัดระบบซะกาตของมัสยิดคือหัวใจสำคัญของการสร้างคนดีตามแบบฉบับอิสลามออกสู่สังคมในวงกว้างนั่นเอง

         หลังความพ่ายแพ้ของโลกอิสลามต่อระบบฆราวาสนิยม (Secularism) ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 มัสยิดถูกจำกัดบทบาทจนเหลือเพียงการเป็นสถานที่สำหรับละหมาดเท่านั้น เป็นการจำกัดโดยแนวคิดและความเชื่อของคนผู้มาจากโลกตะวันตก ซึ่งมีชัยเหนือโลกอิสลาม ทั้งในด้านกำลังอาวุธและในสงครามวัฒนธรรม ขณะที่คนเหล่านั้นสอนผู้บริหารมัสยิดทั้งหลายว่า มัสยิดต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และผู้บริหารมัสยิดทั้งหลายก็รับความคิดเหล่านั้นมาใส่เกล้าโดยดุษณี เราเห็นมัสยิดผุดพรายขึ้นบนแผ่นดินราวดอกเห็ดยามหน้าฝน ขณะที่ความชั่วช้าเลวทรามก็แผ่ลามสังคมดุจกองไฟในถังน้ำมัน จนแม้แต่ตัวผู้บริหารมัสยิดเองก็อาจตกอยู่ในกองเพลิงแห่งบาปกรรมและมะเซียตได้

           กระแสการแย่งกันเป็นใหญ่ในชุมชนมุสลิม ทั้งในตำแหน่งเล็ก เช่น ผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, สมาชิก อบต. จนถึงตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้น เช่น สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  ล้วนแล้วแต่ผูกพันข้องเกี่ยวกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสาปแช่ง คือ ริชวะฮฺ (ดังปรากฏในหะดิษซึ่งบันทึกโดยอิหม่ามอะห์มัด ความว่า “องค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ให้สินบน ผู้รับสินบน ตลอดถึงผู้ประสานงาน  ให้เกิดสินบน”) อาจเป็นเพราะแนวคิดที่แยกส่วนระหว่างมัสยิดกับสังคมและการเมืองกระมัง จึงทำให้มัสยิดหลายแห่งวางตัวเฉยเมยกับปรากฏการณ์อันชั่วร้ายนี้ ปล่อยให้ผู้กระสันอยากในตำแหน่งกับผู้โลภในทรัพย์สินเล็กน้อยบนโลกใบนี้ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมัสยิดตามใจชอบ ปล่อยให้มือไม้ของซาตานก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแลกกับความเหลวแหลกเละเทะของสังคม อันเนื่องจากความเห็นแก่ได้และความรักสนุกเกินขอบเขตของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

             คำสาปแช่งดังปรากฏในหะดิษ มักไม่ปรากฏให้เห็นในความผิดดาด ๆ ทั่วไป แต่จะปรากฏในความผิดที่ถือว่าเป็นมหันตภัยเท่านั้น เพราะการสาปแช่งจากอัลลอฮฺ หมายถึงการขับออกจากปริมณฑลแห่งความเมตตาของพระองค์ คนที่ถูกขับจึงดื่มกินและเกลือกกลั้วอยู่แต่กับสิ่งชั่วร้าย นับเป็นบาปอันมหันต์ที่จำเป็นต้องขจัดออกไปจากสังคมให้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับริชวะฮ์ (สินบน) อย่างรอบด้าน ทั้งในแง่นิยามความหมาย กฎเกณฑ์ที่มากำกับและผลกระทบจากการแพร่หลายของสินบนในสังคม

          หากพิจารณาความหมายของสินบนจากมุมมองอิสลามจะพบว่า นักวิชาการอิสลามศึกษาได้ให้นิยามของสินบน (ริชวะฮ์) ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างอิบนุอาบิดีน นิยามสินบนว่าหมายถึง “สิ่งที่มอบให้แก่ผู้ปกครอง ผู้ตัดสิน หรือบุคคลอื่นใด เพื่อให้บุคคลนั้นตัดสินเข้าข้างผู้มอบหรือทำในสิ่งที่ผู้มอบต้องการ”

         เชคอับดุลอาซีส บิน บาซ อดีตมุฟตี (ผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาศาสนา) ของซาอุดิอารเบียซึ่งล่วงลับไปแล้วได้ให้คำจำกัดความสินบนว่าหมายถึง “การจ่ายทรัพย์สินเพื่อแลกกับการอำนวยประโยชน์บางประการ ซึ่งประโยชน์นั้นผู้รับผิดชอบต้องปฏิบัติโดยหน้าที่อยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีทรัพย์สินแลกเปลี่ยน”

         ในความเห็นของบิน บาซ บาปอันเกิดจากสินบนจะทบทวีขึ้น หากการให้สินบนมีเป้าประสงค์ให้ความถูกต้องแปรเป็นความผิด  หรือทำให้ความผิดเปลี่ยนเป็นความถูกต้อง หรือเป็นการให้เพื่อสร้างความเดือดร้อนแก่ใครคนใดคนหนึ่ง ในความเห็นของบิน บาซ การใช้เงินทองเป็นสินบน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายล้วนถือเป็นบาป ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะดีหรือเลวก็ตาม  (อับดุลอาซีส บิน บาซ “อัล ริชวะฮ์”   เว็บไซต์ กะลิมาต 30/1/1429)

          อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า หากบุคคลอาศัยอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้เพียงจะใช้สิทธิที่ตนมีเพื่อทำสิ่งดี ๆ สักอย่างก็ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน  ในสภาพเช่นนี้ นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า บาปจะตกอยู่กับผู้รับสินบน ส่วนผู้ให้ถือว่ารอดพ้นไป เพราะอยู่ในภาวะจำเป็น ทั้งนี้ หากการให้มีวัตถุประสงค์บรรลุสู่สิ่งดี ๆ หรือเป็นการขจัดความ อยุติธรรมที่เกิดแก่ชีวิต ศาสนา หรือทรัพย์สิน  (islamweb.net 22/09/2005)