ปรัชญาอิสลาม (ตอนที่ 1)
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 15:20
  • 4248
  • 0

ปรัชญาอิสลาม (ตอนที่ 1)

โดย  อ.ปริญญา  ประหยัดทรัพย์



ปรัชญา ( الفلسفة   Philosophy )  คืออะไร?

ปริศนาแห่งปรัชญาได้แหวกว่ายในธาราความคิดของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเพื่อไขปริศนาปรัชญาให้รู้ถึงข้อเท็จจริงและหลักสารัตถะ ตลอดจนนิยามตามกรอบความของมัน ครั้นกระนั้นนิยามทางปรัชญาของสำนักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักปรัชญากรีก หรือปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ก็ตาม ดูเหมือนว่านิยามของปรัชญานั้นได้แตกแยกออกไปหลายทิศทางตามแนวทางของแต่ละสำนัก ในการให้คำนิยามคำว่า  “ปรัชญา” ดังกล่าวนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากที่สำนักต่าง ๆ เหล่านั้นได้แยกตัวและแยกแนวความคิดออกจากกัน

                ในการให้คำนิยามของคำว่า “ปรัชญา” นั้นเราควรมีทัศนะที่กว้างขวางที่สุด แต่นักคิดบางคนก็เข้าใจปรัชญาไปในแวดวงที่จำกัด ณ ที่นี้ผู้เขียนขอนำคำนิยามของ “ปรัชญา” จากนักคิดคนสำคัญเพื่อที่เราจะได้รู้ถึงนิยาม “ปรัชญา” ก่อนที่เราจะเข้าสู่มุมมอง “ปรัชญาอิสลาม” ดังต่อไปนี้

  1. เพลโต   ปรัชญานั้นคือ จุดมุ่งหมายให้มีความรู้ในสิ่งอันเป็นนิรันดร์ ในลักษณะอันเป็นแก่นแท้ของสิ่งต่าง ๆ
  2. อริสโตเติล   ปรัชญาคือ วิทยาการที่สืบสาวค้นคว้าหาลักษณะของสิ่งที่มีอยู่ดังที่เป็นอยู่ในตัวของมันเอง
  3. ฟิตเซ่   ปรัชญาคือ วิชาเกี่ยวกับความรู้
  4. คอมเต้   ปรัชญาคือ วิทยาศาสตร์แห่งวิทยาการทั้งปวง

คำว่า “ปรัชญา” นั้นมีแหล่งกำเนิดจากภาษากรีก ในความหมายด้านนิรุกติศาสตร์ หมายถึง “ความรักในความรู้” บุคคลแรกที่วางรากศัพท์คำว่า “ปรัชญา” الفلسفة    นั้นคือ นักปรัชญาชาวกรีก นามว่า “พิธากอรัส” (فيثا غورس )   “Pithagoras”  เกิดประมาณปี 577 ก่อนคริสตกาล ในขณะที่เขากล่าวว่า       “ฉันเองไม่ใช่ผู้หยั่งรู้ การหยั่งรู้จะเป็นของใครไม่ได้ นอกจากพระเจ้า  ฉันเอง เป็นเพียงผู้ใคร่รู้”

                ดังนั้น “ปรัชญา” จึงมีความหมายที่แตกต่างกันไปตามความเห็นของนักปรัชญาแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ละสำนัก มีความหมายกว้างไกลออกไปปกคลุมไปทั่ววิชาการทุกสาขาทุกแขนง แต่ค่อย ๆ แคบลงไปตามกาลเวลา หลังจากที่สาขาต่าง ๆ ของมันได้แยกออกมาเป็นวิชาเอกเทศ ดังนั้น “ปรัชญา” คือความคิดที่หลั่งไหลเรื่อยมาดุจสายน้ำ เป็นคำสอนหรือคำตอบของปัญหาต่าง ๆ  ที่สะสมอยู่ในความคิดและอุดมคติของมนุษย์ตามยุคตามสมัยที่ปัญหานั้น ๆ จะเกิดขึ้นมา “ปัญหาโลกแตกจะไม่เกิดขึ้นในโลกแห่งปรัชญา” เพราะทุก ๆ คำถามที่มีมา นักปรัชญาจะพยายามคิดค้นหาคำเฉลยให้แก่คำถามนั้นอย่างสมเหตุสมผล ตามสภาพแวดล้อมที่จะผลักดันนักปรัชญาให้เกิดความคิดหรือคำตอบนั้น ๆ มา มันอาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องและพึงพอใจแก่มนุษย์ในสมัยหนึ่งหรือสถานที่หนึ่ง ในขณะเดียวกันอาจจะกลับกลายเป็นความผิดพลาดอันมหันต์สำหรับมนุษย์ในยุคถัดมา อันเนื่องจากความเจริญเติบโตของปัญญามนุษย์และกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อความคิดความเข้าใจของมนุษย์นั่นเอง

                อันความคิดของมนุษย์นั้นได้มีการถ่ายทอดกันมาโดยตลอดมีการปรับปรุงเติมแต่งตามยุคตามสมัยของนักปรัชญาที่จะมีเวลาและความเสรีเพียงพอในการใช้ความคิด แน่นอนที่สุดความคิดของมนุษย์ได้หลั่งไหลเรื่อยมาดุจดั่งสายน้ำในเมื่อเราได้พบแม่น้ำสายหนึ่งเราก็จะเกิดความคิดขึ้นมาและถามตัวเองว่า “ต้นธารนี้มาจากไหน” เป็นการพอกพูนปัญญาหรือการใช้ปัญญาให้มีประโยชน์เช่นเดียวกับการที่เราจะค้นคว้าถึงต้นธารแห่งปรัชญาอิสลาม หรือความคิดอันเสรีของมนุษย์นั้นเราจะพบว่าแหล่งกำเนิดของธารสายนี้เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญนั้นก็คือการวิวรณ์ (อัลวะฮยู  )

                ดังนั้นความคิด ความเข้าใจและความรู้ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในขอบข่ายทางปัญญาของมนุษย์นั้นเกิดจากคำสอนของอัลเลาะฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ที่ประทานลงมาให้ศาสดาของพระองค์มาสั่งสอนแนะนำประชากรในแต่ละสมัย   ดังพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุว่า                

ความว่า : และพระองค์ทรงสอนอาดัมให้รู้บรรดาชื่อทั้งหลาย  (ของสรรพสิ่งต่าง ๆ )  (บทอัลบะกอเราะฮ์  โองการที่  21 )

และอีกโองการหนึ่งพระองค์อัลเลาะฮ์(ซ.บ.) ทรงตรัสว่า  

ความว่า :  และเราได้สอนเขาให้รู้วิธีการทำเสื้อเกราะสำหรับพวกเจ้า เพื่อมันจะได้เป็นเกราะกำบังพวกเจ้าในการสู้รบของพวกเจ้า (บทอัลอัมบิยาอ์  โองการที่ 10 )

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้เราอาจเห็นได้ว่าวิธีการของปรัชญานั้นคือ  แหล่งที่ปัญญาพยายามตอบคำถามต่าง ๆ โดยใช้สติปัญญา  เหตุผลและความคิดใคร่ครวญที่มีเหตุผล

                ครั้งกระนั้นศาสนาจึงถามคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวใจของมนุษย์อยู่เป็นอาจิณนั่นคือเหตุผลและการใคร่ครวญถึงสรรพสิ่งนานัปการเช่นเดียวกับ “ปรัชญา” ดังที่กล่าวมาแล้วโดยนัยแห่งปรัชญานั้นจะพยายามตอบคามเหล่านี้โดยอาศัยความศรัทธาและญานวิสัยเป็นพื้นฐาน แต่เมื่อกล่าวเช่นนี้ขออย่าได้ทึกทักเอาว่าในศาสนานั้นไม่มีเหตุผล  ศาสนาที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีที่ว่างสำหรับเหตุผล, ความศรัทธา,สติปัญญาวิสัย เขาจึงได้รับความรู้ได้ปรัชญามาได้