ทางนำจากอัลกุรอาน
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 15:05
  • 2112
  • 0

ทางนำจากอัล-กุรอาน

โดย  อาลี เสือสมิง

قَالَ اللهُ تَعَالى :{ وَأَطِيْعُوا اللهَ وَرَسُوْلَهُ وَلا تَنَازَعُوْا فَتَفْشَلُوْا وَتَذْهَبَ رِيْحُكُمْ ،

وَاصْبِرُوْا إِنَّ اللهَ مَعَ الصَّابِرِيْنَ }  الأنفال آية 46

คำอรรถธิบาย

และสูเจ้าทั้งหลายจงภักดีอัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) และศาสนทูตของพระองค์ ด้วยการดำเนินตามวิถีแห่งอัล-กุรอาน และ
สุนนะฮฺของนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ดำรงตนในวิถีนั้นด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาใช้อย่างสุดกำลัง และหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่มีบัญชาห้ามไว้โดยสิ้นเชิง การภักดีอัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) โดยไม่อาศัยวิถีแห่งสุนนะฮฺของนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم )คือการหลงทางโดยแท้

และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้พิพาทขัดแย้งซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องหลักมูลฐานของศาสนาที่อัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) และศาสนทูตของพระองค์ได้วางบัญญัติไว้ อาทิ การเชื่อฟังผู้นำในสิ่งที่ไม่ขัดต่อบัญชาของอัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) และศาสนทูตของพระองค์อีกทั้งมีหลักมูลฐานของศาสนารองรับ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากกรณีพิพาทขัดแย้งในหมู่สูเจ้าจักเป็นเหตุทำให้สูเจ้าทั้งหลายอ่อนแอ ขลาดเขลา และประสบความล้มเหลวในการกิจทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการศึกสงครามซึ่งเป็นสาระสำคัญในการประทานอายะฮฺนี้ลงมา ตลอดจนการบริหารและการปกครองซึ่งจำต้องธำรงเอกภาพและสามัคคีธรรมของหมู่ชนเป็นหลัก อีกทั้งการพิพาทขัดแย้งนั้นจักเป็นเหตุในการที่พลัง และความเข้มแข็งของหมู่สูเจ้าจะวิปโยคและสูญไป เนื่องจากพลังและความเข้มแข็งของหมู่ชนขึ้นอยู่กับสภาวะที่มีเอกภาพและสามัคคีธรรมเป็นสำคัญ

และสูเจ้าทั้งหลายจงยึดในหลักแห่งขันติธรรมด้วยการอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ ไม่ต้องจริต ไม่สบอารมภ์ และไม่เข้าด้วยพวกพ้องของตน ตราบใดที่สิ่งเหล่านั้นเป็นความชอบธรรมตามศาสนบัญญัติ หรือเป็นไปตามการลิขิตและพระประสงค์ของอัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) หรือเป็นการธำรงรักษาบูรณภาพของสังคมโดยรวมให้ดำเนินไปตามวิถีแห่งบัญญัติของศาสนา ทั้งนี้เพราะหมู่ชนใดมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานแห่งหลักขันติธรรม หมู่ชนนั้นย่อมได้รับการช่วยเหลือ และการเอื้ออำนวยจากอัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) ให้ดำรงอยู่ได้โดยไม่แตกสลาย และบรรลุสู่ความสัมฤทธิผลในกิจการทั้งปวง

 วิทยญาณอันเป็นคุณค่าจากธรรมบัญญัติข้างต้น

1)    การภักดีอัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) และศาสนทูตของพระองค์ คือวิถีแห่งศรัทธาชนและถือเป็นบรรทัดฐานในทุกการกิจนับแต่เบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย

2)    การพิพาทขัดแย้งที่นำไปสู่สามัคคีเภท การละเมิดซึ่งกันและกัน การบ่อนทำลายสภาวะความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำที่ชอบธรรมและเกิดสภาวะที่สับสนในหมู่ผู้ตามถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ เพราะสิ่งดังกล่าวคือปัจจัยเหตุแห่งความอ่อนแอ ความขลาเขลา การขาดเสถียรภาพ และการไร้พลังในการขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคม ตลอดจนสูญเสียศักยภาพในการต่อรองหรือการผลักดัน คราใดที่ปรากฏการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้เกิดขึ้นในหมู่ชนผู้ศรัทธาแล้วไซร้ ครานั้นเกียรติภูมิของศาสนาก็ย่อมถูกหมิ่นความสูงส่งของศรัทธาชนที่อัลลอฮฺ (سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى  ) ทรงยอยกเอาไว้ก็จะถูกกระชากลงสู่การหยามเหยียดและดูแคลน เหล่าปัจจามิตรที่จดจ้องและรอคอยจะสบโอกาสในการบีฑาและเหยียบย่ำซ้ำเติมโดยที่พวกเขาไม่ต้องทุ่มสรรพกำลังอันใดเลยแม้แต่น้อย เพราะการบ่อนทำลายที่เกิดขึ้นภายในหมู่ชนด้วยกันเองนั้นคือศัสตราวุธที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าทุกศัตราในตำราพิชัยสงคราม

3)    หลักธรรมอันเป็นเครื่องประคับประคองบูรณภาพของหมู่ชนให้ธำรงอยู่ได้ หรือเป็นเครื่องบรรเทาผลข้างเคียงอันเกิดจากโรคร้ายแห่งสามัคคีเภทคือ ความมีขันติในระหว่างสมาชิกของหมู่ชน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของความอดทน อดกลั้น การรู้จักใช้สติยับยั้งชั่งใจ การมีปัญญารู้คิด การไม่จองเวรอาฆาตพยาบาท การรู้จักละวางและให้อภัย ตลอดจนการมองโลกว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน และยอมรับในสัจธรรมที่ว่า มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีได้ก็ต้องมีเสีย มีคนรักก็ต้องมีคนชัง มีคนชื่นชมก็ย่อมมีคนแช่งชักหักกระดูกเป็นธรรมดา ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องม้วยมรณาด้วยกันทุกคน สังคมใดขาดขันติธรรม สังคมนั้นย่อมไร้เสถียรภาพด้วยประการทั้งปวง