เศรษฐศาสตร์อิสลาม กับยุทธศาสตร์การสร้างสังคมที่เป็นสุข ตอนที่ 3
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 14:59
  • 1465
  • 0
2. ซะกาตในฐานะเครื่องมือกระจายรายได้และขจัดความยากจนในชุมชน
 

อัลกุรอานได้กำหนดกลุ่มบุคคลหรือสถาบันที่มีสิทธิรับซะกาตเอาไว้อย่างแน่นอน ทำให้ซะกาตไม่สามารถใช้จ่ายไปยังกลุ่มบุคคลหรือสถาบันอื่นนอกเหนือจากที่ถูกกำหนดไว้ได้ กลุ่มบุคคลหรือสถาบันเหล่านั้นมี 8 ประเภท ปรากฏในซูรอฮ์ อัล เตาบะฮ์ โองการที่ 10 ซึ่งมีใจความว่า

“บรรดาทานซะกาตนั้น ให้เป็นสิทธิของคนแร้นแค้น คนยากจน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คนที่ควรได้รับการสมานหัวใจ เกี่ยวกับทาส ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การใช้จ่ายตามครรลองแห่งอัลลอฮ์ และผู้อยู่ระหว่างการเดินทางที่ขาดปัจจัย นั่นเป็นข้อกำหนดจากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงปรีชาญาณยิ่ง”

เมื่อพิจารณากลุ่มผู้มีสิทธิรับซะกาตแล้ว จะเห็นได้ว่าคนยากจนซึ่งสังคมส่วนใหญ่จัดให้เป็นชนชั้นล่าง และมักถูกกดข่มจากชนชั้นสูงเสมอ ได้รับสิทธิสูงสุด โดยการจัดวางลำดับไว้เป็นอันดับหนึ่งและสองในบรรดากลุ่มผู้มีสิทธิทั้งหมด การวางลำดับเช่นนี้สะท้อนว่าเป้าหมายสำคัญสูงสุดของระบบซะกาตคือ ขจัดปัญหาความยากจน และยกระดับความเป็นอยู่ของคนยากจนในสังคมมุสลิมให้ดีขึ้น ทั้งนี้ “เพราะโดยหลักวาทศิลป์ในภาษาอาหรับนั้น จะเริ่มต้นด้วยการระบุสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน แล้วตามด้วยสิ่งที่สำคัญรองลงไปเสมอ” (Qaradawi. 1986 v.2 : 552)

การกำหนดประเภทของผู้มีสิทธิรับซะกาตไว้อย่างแน่นอนตายตัวเช่นนี้ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่คนชั้นล่างที่ขาดแคลนปัจจัยการผลิตอย่างแท้จริง และถ้าหากเราจะมองความยากจนตามข้อเสนอของ ณรงค์ เพชรประเสริฐ ที่ข้ามพ้นมิติของการขาดแคลนทรัพย์สินในปริมาณที่กำหนดตามเส้นความยากจน (Poverty Line) ไปสู่มิติอื่น ๆ ด้วยคือ นอกจากจนทรัพย์สินแล้ว ยังหมายรวมถึงจนโอกาส จนอำนาจ และจนศักดิ์ศรีด้วย (ดู ณรงค์ เพชรประเสริฐ 2545 :13)

พิจารณาจากมุมมองนี้ ผู้รับซะกาตจะได้รับการแก้ไขทั้ง 4 มิติครบถ้วน เพราะซะกาตสามารถแปรเป็นปัจจัยที่จะตอบสนองความต้องการของคนจนได้ทั้ง 4 มิติ กล่าวคือ การให้ซะกาตจะคำนึงถึงสภาพปัญหาของคนจนเป็นหลัก หากผู้รับซะกาตเป็นคนขาดแคลนทรัพย์สิน และไม่สามารถใช้โอกาสในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้อีกแล้ว เนื่องจากเป็นคนพิการ หรือเป็นคนชราภาพมากแล้ว การจ่ายซะกาตก็อาจให้เป็นเงินหรืออาหารที่จะช่วยให้คนผู้นั้นดำรงชีพต่อไปได้ แต่หากผู้มีสิทธิรับซะกาตเป็นคนจนโอกาสมากกว่าจนทรัพย์สิน การให้โอกาสย่อมเป็นสิ่งประเสริฐกว่าการให้อาหารประทังชีวิต ซะกาตสำหรับคนประเภทนี้จึงควรอยู่ในรูปของเครื่องมือประกอบอาชีพ ที่ดินทำกิน หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นต้น และหากการขาดโอกาสเกิดจากขาดการศึกษา ซะกาตก็สามารถ

ให้ได้ในรูปของทุนการศึกษาเช่นกัน เมื่อการให้โอกาสผ่านระบบซะกาตเกิดจากความศรัทธาต่อพระเจ้า และเพื่อสร้างความจำเริญบนพื้นพิภพ มิใช่การให้เพื่อกดข่ม ผู้รับซะกาตจึงมิใช่ผู้ที่ถูกทำลายศักดิ์ศรี หากแต่สังคมกำลังช่วยพยุงให้เขาดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะได้รับสิทธิและอำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างสังคมได้อย่างทัดเทียมกับผู้ให้ซะกาตเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น ผู้มีสิทธิในกลุ่ม “ครรลองแห่งอัลลอฮ์” ก็ได้รับการอรรถาธิบายจากนักอิสลามศึกษาบางส่วนว่า นอกจากจะหมายถึงการช่วยเหลือนักรบที่ต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนาแล้ว ยังหมายถึงการก่อตั้งสถาบันต่าง ๆ ไว้ทำหน้าที่ดูแลสวัสดิการ ผลประโยชน์ของส่วนรวม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการทำหน้าที่พิทักษ์ ปกป้อง รักษา และดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์มุสลิมด้วย เช่น การสร้างมัสยิด โรงเรียน โรงพยาบาล สื่อสารมวลชนและองค์กรการกุศลต่าง ๆ (Qaradawi 1986 V.2 : 674-675 ) การใช้ซะกาตเพื่อประโยชน์ด้านนี้ย่อมหมายถึงสวัสดิการที่คนยากจนจะได้รับ โอกาสในการมีงานทำ รายได้อันมั่นคง ตลอดจนความจำเป็นอื่น ๆ ในความเป็นมนุษย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อเสนอของ ณรงค์ เพชรประเสริฐ อีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับสาเหตุของความยากจน ซึ่งเขาเห็นว่ามีอยู่ 4 กลุ่มปัจจัย ได้แก่ ท่าทีต่อชีวิต ปัจจัยการผลิตและการเข้าถึงทรัพยากรของสังคม ความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และสุดท้ายคือระบบสวัสดิการ จะเห็นได้ว่าสามปัจจัยหลังเป็นปัจจัยเชิงวัตถุ ซึ่งระบบซะกาตสามารถที่จะแก้ไขได้ ส่วนปัจจัยแรกคือท่าทีต่อชีวิต เป็นปัจจัยเชิงนามธรรมซึ่งควรจะหมายรวมถึงอุปนิสัยใจคอบางอย่างที่ทำให้คนเราปล่อยโอกาสและเวลาในการสร้างตน สร้างฐานะ ตามฟิตรอฮ์ของความเป็นมนุษย์ให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ เช่น นิสัยเกียจคร้าน การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสิ่งไร้สาระ ความงมงาย และการเสพสิ่งมึนเมา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้บุคคลไม่มีสิทธิรับซะกาต เนื่องจากซะกาตนั้นจะมอบแก่ผู้มีกำลังวังชา แต่ไม่ประกอบสัมมาอาชีพไม่ได้
ระบบซะกาตยังสามารถที่จะบรรเทาวิกฤติทางเศรษฐกิจลงได้เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ซะกาตมีทั้งมิติเชิงจิตวิญญาณและมิติเชิงวัตถุประกอบครบถ้วน การคำนึงถึงทั้งสองมิติของชีวิตช่วยให้ซะกาตสร้างความเข้มแข็งแก่ฟิตรอฮ์ของมนุษย์ได้ ขณะเดียวกันวาทกรรมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดจากระบบนี้ ก็ช่วยให้วัตถุทางเศรษฐกิจมีวงจรของการผลิต การบริโภค และการไหลเวียนที่ทำให้เกิดความจำเริญแก่สังคมได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ซะกาตสลายการกักตุนทรัพยากรในหมู่ผู้มีรายได้สูง โดยกระจายไปในหมู่คนยากจน และทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นด้วยข้อกำหนดว่า

“ทรัพย์สินอยู่ที่ใด ก็ให้จ่ายไปยังคนยากจนในที่นั้น ไม่อนุญาตให้นำซะกาตไป มอบแก่คนซึ่งอาศัยอยู่ต่างถิ่นออกไป ยกเว้นกรณีในท้องถิ่นของผู้จ่ายซะกาตเองไม่มีผู้ยากจนเหลืออยู่แล้ว หรือคนในท้องถิ่นอื่นมีความแร้นแค้นมากกว่า และการให้แก่คนเหล่านั้นก่อเกิดคุณูปการมากกว่าเท่านั้น ข้อกำหนดนี้มีมาแต่ครั้งบรมศาสดา ผู้ซึ่งได้บัญชาแก่เจ้าหน้าที่ซะกาต ซึ่งถูกส่งไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ว่า “ให้เก็บซะกาตจากคนรวยของแต่ละท้องถิ่น แล้วแจกจ่ายไปยังคนจนของท้องถิ่นนั้น ๆ” (ดู Qaradawi 1986 v.2 : 816-826)

ข้อกำหนดนี้ทำให้ทรัพย์สินส่วนเกินซึ่งกระจายมาจากคนรวย ถูกเก็บไว้และไหลเวียนอยู่ในชุมชน ช่วยให้กระแสเงินสะพัดอยู่ในชุมชนนั้น ต่างจากระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่กำไรส่วนเกินถูกส่งเข้าสู่บริษัทแม่ ซึ่งก็มักเป็นบริษัทต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ซะกาตยังกระตุ้นให้คนรวยนำทรัพย์สินไปลงทุน ซึ่งโดยกรอบของศาสนา ต้องลงทุนในกิจการอันส่งเสริมความเข้มแข็งของฟิตรอฮ์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ลงทุนในกิจการอันทำให้ฟิตรอฮ์ของมนุษย์อ่อนแอ เป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดการผลิต ไม่ใช่การลงทุนที่เป็นการพนันขันต่อหรือเก็งกำไรระยะสั้น และหากทรัพย์สินถูกใช้ไปเพื่อการลงทุนในกิจการอันศาสนาเห็นว่าทำลายฟิตรอฮ์ของมนุษย์ ทรัพย์สินนั้นจะไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า จึงไม่อาจนำมาจ่ายซะกาตหรือใช้เพื่อกุศลกิจใด ๆ ได้

นอกจากนี้การกำหนดตัวผู้รับซะกาตไว้อย่างชัดเจน โดยเน้นไปที่คนยากจน ยังทำให้การกระจายรายได้ไปถึงมือคนจนอย่างแท้จริง ซึ่งต่างไปจากระบบภาษีที่ไม่มีการกำหนดตัวผู้รับ ทำให้ภาษีที่เก็บได้ถูกใช้ไปเพื่อเอื้อประโยชน์กับผู้มีรายได้สูงมากกว่าจะช่วยเหลือคนยากจน เช่น ระบบภาษีและการกำหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยต่อภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวนาอ่อนแอตลอดมา ในขณะที่นายทุนภาคอุตสาหกรรมได้รับการดูแลเป็นอย่างดี วอลเดน เบลโล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“...รายได้ที่เป็นชิ้นเป็นอันของรัฐที่ควรจะถูกนำกลับมาใช้ในภาคการเกษตร เพื่อที่จะคานกับผลในด้านลบของค่าธรรมเนียมข้าวที่กระทบต่อรายได้ โดยให้การช่วยเหลือทางด้านปัจจัยการผลิตและการขยาย และยกระดับเทคโนโลยีทางการเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมการปฏิรูปที่ดินและการปฏิรูปอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชนบท อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรได้รับงบประมาณจากรัฐน้อยมาก คือประมาณร้อยละ 7-13 เท่านั้นในช่วงปี 2504-2524 ทั้ง ๆ ที่ภาคการเกษตรมีผลผลิตมูลค่าประมาณร้อยละ 25-40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีมูลค่าร้อยละ 50-90 ของการส่งออก และร้อยละ 60-82 ของแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น งบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลในภาคการเกษตรกลับไปเน้นที่กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างถนน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการค้าและการเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออก มากกว่าที่จะยกระดับรายได้ของชนบทโดยตรง เช่น การอุดหนุนผู้ผลิตรายเล็ก การปฏิรูปที่ดิน และส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของเกษตรกรรายย่อย” (วอลเดน เบลโล และคณะ 2542 : 205)

รายได้จากซะกาตซึ่งคนจนได้รับนี้ หากนำไปใช้เพื่อการบริโภค ก็ต้องอยู่ในกรอบของความประหยัด อดออม และไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ซึ่งแนวทางการใช้จ่ายนี้ นอกจากตัวของผู้รับซะกาตต้องเตือนตัวเองแล้ว ผู้ให้ซะกาตและผู้นำในสังคมต้องร่วมกันสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ อีกทั้งคอยสอดส่องดูแลการปฏิบัติตนของผู้รับว่าได้ใช้จ่ายเงินซะกาตไปในแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่ การมีเครื่องมือทำกิน รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้จักอดออม และใช้ชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางสังคมที่มีผู้คอยให้ความช่วยเหลือ ย่อมสามารถช่วยให้คนเราลืมตาอ้าปากได้ และอาจปรับปรุงฐานะตัวเองเป็นผู้จ่ายซะกาตในอนาคตได้อีกด้วย

 
3. ซะกาตในฐานะหลักประกันสังคมในชุมชน
 

ในจำนวนผู้มีสิทธิรับซะกาต ซึ่งปรากฏในอัลกุรอาน บท อัล เตาบะฮ์ (Al Taubah) โองการที่ 10 ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในข้อ 2 มีกลุ่มบุคคลล้มละลายรวมอยู่ด้วย โดยอยู่ในลำดับที่ 6 บุคคลล้มละลายนี้ นักนิติศาสตร์อิสลามให้การอรรถาธิบายว่า หมายถึง ผู้มีหนี้สินติดตัว และไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ (ดู Qaradawi 1986. v.2 : 629-641) และผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุดในกลุ่มนี้ก็คือ ผู้ที่ประสบภัยพิบัติจนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินจากบุคคลอื่น (แหล่งเดิม : 632) การช่วยเหลือบุคคลประเภทนี้ด้วยซะกาต ให้ช่วยในระดับที่เขาสามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม ในแง่นี้ ซะกาตจึงแสดงบทบาทของการประกันสังคมได้เป็นอย่างดี ไม่เฉพาะผู้ประสบภัยจนเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหายเท่านั้นที่สามารถรับซะกาตได้ แม้ผู้ที่ไม่ได้ประสบภัย แต่ประกอบอาชีพสุจริตและประสบภาวะขาดทุน กลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็สามารถรับซะกาตได้เช่นกัน ระบบซะกาตที่มั่นคงจึงทำให้ผู้ประกอบสัมมาอาชีพทั้งหลาย สามารถทำงานได้ด้วยความมั่นใจมากขึ้น เพราะมีหลักประกันที่จะช่วยเหลือหากประสบความเสียหายอย่างไม่คาดคิด และเนื่องจากศาสนาอิสลามไม่ได้มองความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพียงในมิติเงินตราหรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่มองว่าความเข้มแข็งเกิดขึ้นได้เพราะฟิตรอฮ์ของมนษย์เข้มแข็ง โดยนัยนี้ การให้หลักประกันสำหรับผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ จะให้เฉพาะการประกอบอาชีพที่สุจริต และไม่ผิดต่อหลักศาสนาเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนในสังคมแสวงหารายได้จากอาชีพซึ่งไม่ทำลายสังคม และเป็นอาชีพที่เพิ่มความเข้มแข็งแก่ฟิตรอฮ์มากขึ้นเท่านั้น

หลักประกันจากระบบซะกาตไม่ได้จำกัดเฉพาะความเสียหายเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการประกันในด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และการทำงานเพื่อสาธารณกุศลต่าง ๆ ด้วย เพราะซะกาตสามารถที่จะนำไปสร้างสถาบันการศึกษา หรือโรงพยาบาลได้ ภายใต้กรอบการช่วยเหลือผู้ทำงาน “ตามครรลองแห่งอัลลอฮ์” อันเป็นผู้มีสิทธิรับซะกาตกลุ่มที่ 7 นั่นเอง

โดย อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี