เศรษฐศาสตร์อิสลาม กับยุทธศาสตร์การสร้างสังคมที่เป็นสุข ตอนที่ 1
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 14:58
  • 2446
  • 0

แม้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมีเป้าหมายในการกระจายผลได้ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ นอกเหนือจากการมุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเป้าหมายหลักอยู่แล้ว แต่ความจริงที่เราสามารถสัมผัสได้โดยสามัญสำนึกก็คือ รายได้ทางเศรษฐกิจไม่ได้มีการกระจายอย่างเป็นธรรม คนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ครอบครองทั้งทรัพยากรและรายได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสที่จะทำเช่นนั้น สภาวการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ปัญหารายได้ที่กระจุกตัว การกักตุนทรัพยากร การทำลายทรัพยากรที่ควรรักษาไว้แก่อนุชนรุ่นหลัง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และที่สุดก็คือความขัดแย้งระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งนำไปสู่ภาวะความไม่สงบและเกิดสงครามในหลายพื้นที่

          เศรษฐศาสตร์กระแสหลักนี้ยืนอยู่บนปรัชญาวัตถุนิยม ปฏิเสธมิติเหนือธรรมชาติ แต่ถือว่า มนุษย์เป็นองค์อธิปัตย์ที่สามารถเข้าถึงความรู้ ความจริง ความงามได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด ปรัชญาเช่นนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คิดได้เฉพาะหลักเกณฑ์การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัตถุ ไปไม่ถึงการปฏิสัมพันธ์กับจิตวิญญาณของมนุษย์ การหมกมุ่นเฉพาะวัตถุก่อเกิดความรู้สึกทะเยอทะยาน ความโลภ และการทำลายล้าง แม้จะพยายามวางกรอบทางศีลธรรมเอาไว้กำกับ แต่กรอบศีลธรรมดังกล่าวก็เปราะบางเกินกว่าจะกำกับจิตอันเต็มไปด้วยความโลภโมโทสันได้ เพราะเป็นกรอบศีลธรรมที่ไม่ได้มาจากจิตวิญญาณ เป็นเพียงคุณธรรมที่ถูกบัญญัติขึ้นจากกฎว่าด้วยอุปสงค์ อุปทานเท่านั้น ในที่สุด คนกลุ่มหนึ่งที่ครอบครองวัตถุได้มากกว่าก็กลายเป็นชนชั้นนำ และคนกลุ่มนี้ก็สร้างวาทกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อกดข่มคนส่วนใหญ่ให้อยู่ใต้อาณัติของตนเอง และเพื่อให้ตนเองได้ครอบครองอำนาจและวัตถุต่อไป ขณะเดียวกับที่ต้อง กีดกันคนในชนชั้นเดียวกันมิให้ก้าวขึ้นมาทาบรัศมีของตนเองด้วย อันเป็นที่มาของการต่อสู้ การขบถ ทรยศ และการทำลายล้างกันด้วยวิธีการอันสกปรกต่าง ๆ นานาในสังคมปัจจุบัน ด้วยจักรวาลทัศน์ที่ถือว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นกรรมสิทธิ์แห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า มนุษย์อยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้สรรพสิ่งเหล่านั้นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระองค์ อิสลาม จึงมีทั้งมิติของจิตวิญญาณและมิติในทางวัตถุ วัตถุต่าง ๆ ในอิสลามเป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่สังคมมนุษย์ ไม่อาจขึ้นมาเทียบเคียงองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ ในอิสลามมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์หลายประการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อกำหนดที่ช่วยสร้างความสมดุลได้ ทั้งในแง่ดุลยภาพระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ และดุลยภาพในสังคมที่มนุษย์อยู่ร่วมกัน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างมาเพียง 1 ข้อกำหนด คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับซะกาต ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถบ่งบอกลักษณะโดยรวมของเศรษฐศาสตร์อิสลามได้เป็นอย่างดี

ซะกาตกับการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน


 
1. ความเข้มแข็งในระดับปัจเจก

 
ก. ในด้านของผู้ให้
 

ความหมายตามรากศัพท์ของคำว่า “ซะกาต” คือ การขัดเกลาให้ใสสะอาด ส่วนความหมายตามหลักวิชาการคือ ทรัพย์สินซึ่งถูกบัญญัติโดยพระผู้เป็นเจ้าให้มอบแก่ผู้มีสิทธิตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนดไว้ โดยความหมายนี้ ซะกาตจึงมีลักษณะเด่นอยู่ที่ “การให้” ซึ่งตรงกันข้ามกับคุณลักษณะของการทำธุรกรรมในโลกวัตถุนิยมที่มุ่งเน้น การเอา” จนแทบไม่มีพื้นที่สำหรับการให้ผู้อื่น การให้ตามระบบซะกาตนี้ ผู้ให้มิได้มุ่งหวังความพอใจจากผู้รับ อีกทั้งมิใช่การให้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปูทางไปสู่การสวามิภักดิ์ของผู้รับต่อตัวผู้ให้ หากแต่วัตถุประสงค์หลักคือการกดข่มอิทธิพลของวัตถุมิให้ครอบงำเหนือจิตใจ เพื่อเปิดพื้นที่จิตใจไว้สำหรับพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เป็นการให้โดยมุ่งหวังความพอพระทัยจากพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด

ความต้องการครอบครองทรัพย์สินนั้นเป็นฟิตรอฮ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ การได้ครอบครองทำให้เกิดกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ผิดกับการทำงานที่ทุกอย่างต้องส่งไปเลี้ยงส่วนรวมเช่นในระบบคอมมูนในอดีตซึ่งจะบั่นทอนกำลังใจของผู้ทำงานจนแทบหมดสิ้น กระนั้น วาทกรรมวัตถุนิยมในโลกสมัยใหม่ก็ได้กระตุ้นความต้องการนี้ของมนุษย์จนเกินความพอดี กลายเป็นความเห็นแก่ตัวอันร้ายกาจซึ่งทำลายทั้งปัจเจกเองและสังคมที่เขาอยู่อาศัยด้วย วาทกรรมดังกล่าวทำงานผ่านการสร้างรูปแบบชีวิตซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินตราคือที่มาของความสุข และเป็นที่พึ่งพิงอันแท้จริงสำหรับชีวิตมนุษย์ เมื่อเห็นว่าเงินคือสิ่งบันดาลความสุขและความสมหวัง บุคคลจึงทุ่มเทกับการทำงานจนไม่มีเวลาให้กับผู้อื่น เป็นการใช้ชีวิตตามกรอบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยไม่มีโอกาสใช้ความคิดของตนเอง และใช้เวลาว่างที่มีอยู่เล็กน้อยเพื่อเสพความสุขอันฉาบฉวยตามที่อุตสาหกรรมอารมณ์สร้างไว้ปรนเปรอ บรรเทาความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่พอใจและความโดดเดี่ยวอ้างว้างด้วยการบริโภค ซึ่งยิ่งกระทำก็ยิ่งมีความต้องการมากขึ้นไปอีก จึงแทบไม่มีโอกาสที่จะคิดถึงการให้แก่ผู้อื่นเลย เวนเดลล์ เบอร์รี (Wendell Berry) กล่าวถึงชีวิตในท่วงทำนองนี้ว่า

“ตามข้อเท็จจริง ก็คือคนเหล่านี้อาจเป็นมนุษย์ผู้มีความทุกข์มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เขาไม่อาจสร้างอำนาจใด ๆ ให้แก่ตัวเองนอกจากอำนาจเงิน และเงินนั้นมันก็เฟ้อเหมือนลูกบอลลูน แล้วล่องลอยไป กลายเป็นสภาวะทางประวัติศาสตร์และเป็นอำนาจของผู้อื่น ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เขาไม่ได้แตะต้องสิ่งใดที่เขาทำได้เอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เมื่อมีเวลาว่างหรือเวลาพักผ่อน เขาจึงรู้สึกแย่” (อ้างถึงใน จอห์น เลน 2547 : 77)

อีกด้านหนึ่ง การอาศัยเงินตรา/วัตถุเป็นที่พึ่งสูงสุด ก็ก่อเกิดความตระหนี่ถี่เหนียวขึ้นในตัวตนของคนบางกลุ่ม พวกเขามิได้คิดเรื่องการให้แก่ผู้อื่นเว้นเสียแต่ว่าการช่วยเหลือนั้นจะทำให้ได้รับผลตอบแทนจากผู้รับในปริมาณมากกว่าที่ให้ไป คือการให้ของเจ้านาย/นายจ้างแก่ลูกน้อง/ลูกจ้างซึ่งมักไม่มีความรักและความเห็นใจเจือปนอยู่ แต่เป็นการให้เพราะสิ่งที่เจ้านาย/นายจ้างได้รับจากลูกน้อง/ลูกจ้างนั้นมีปริมาณมากกว่าเงินที่เขาจ่ายไปหลายเท่า และเมื่อใดที่ลูกน้อง/ลูกจ้างไม่สามารถให้ผลตอบแทนเชิงวัตถุได้อย่างพอเพียง เขาก็จะถูกปลดออกอย่างไร้เยื่อใย นิคโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolo Machiavelli 1469-1527) ดูจะเข้าใจเรื่องนี้ดี เขาเขียนใน The Prince ว่า

“การให้โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่เป้าหมาย เพราะคนเราย่อมเสียสละอะไรที่เป็นของตนออกไป เพื่อที่จะได้อะไรอื่นต่อไปอีก คนที่แสดงความโอบอ้อมอารีนั้น กระทำไปมิใช่เพื่อแสดงออกถึงความเป็นอิสระ และความมีเสรีภาพของตนเอง แต่เพื่อที่จะได้มีความยิ่งใหญ่ และมีอำนาจเหนือผู้อื่น เมื่อคนฉลาดให้อะไรใคร เขามิได้กระทำเพราะเขาปรารถนาจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความพอใจหรือความสมบูรณ์ในตัวเอง แต่เพื่อที่ว่าเขาจะได้ก้าวหน้าในฐานะหรือในยศตำแหน่ง” (อ้างถึงใน มงคลเลิศ ด่านธานินทร์ 2551 : 77)

ในระบบที่เงินตราเป็นที่พึ่งสูงสุดนี้ การให้กู้ยืมซึ่งควรเป็นการแสดงน้ำใจช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ได้กลายเป็นการใช้เงินที่มีอยู่ต่อยอดเพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยระบบดอกเบี้ย ซึ่งแท้จริงก็คือการดูดซับความเข้มแข็งของผู้อื่นมาเป็นของตน กดข่มผู้นั้นให้อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และสามารถมองดูเขาดับดิ้นไปต่อหน้าได้ด้วยความเย็นชา ความแล้งน้ำใจของผู้คนซึ่งนำไปสู่สภาวะความตึงเครียดอย่างสูง ทำให้ธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในโลกวัตถุนิยมจึงเป็นธุรกิจที่ให้ความบันเทิงเริงรมย์ และผู้ที่อยู่ในแวดวงเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่สร้างรายได้มหาศาล ขณะที่ผู้ทำงานหล่อเลี้ยงสังคมจริง ๆ เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตอย่างแร้นแค้น ดังที่จอห์น เลน กล่าวถึงความจริงข้อนี้ว่า

“เมื่อปี 2000 เลนน็อค เลวิส นักมวยแชมเปี้ยนโลกรุ่นเฮฟวี่เวตมีรายได้ 30 ล้านปอนด์ และไทเกอร์ วูดส์ นักกอล์ฟก็อย่างเดียวกัน ขณะที่พยาบาล ช่างมุงหลังคาบ้าน บรรณารักษ์ ชาวไร่ชาวนาแถบภูเขา หรือช่างทำรองเท้าฝีมือดี แทบไม่มีความหวังว่าจะมีรายได้แค่หนึ่งในพันของจำนวนนี้” (จอห์น เลน 2547 : 85)

อิสลามป้องกันและเยียวยาปัญหาความเห็นแก่ตัวและแล้งน้ำใจ ด้วยการหนุนเสริมมนุษย์ให้พ้นจากอิทธิพลของวัตถุ ผ่านมาตรการ 2 อย่าง คือ

1. การตอกย้ำและผลิตซ้ำจักรวาลทัศน์ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชีวิตมิได้ดำรงอยู่โดยมีเป้าหมายคือการครอบครองทรัพย์สินและการบริโภค หากแต่อยู่ที่การได้ประกอบคุณงามความดีถวายแด่อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ตามที่ทรงพอพระทัย จักรวาลทัศน์นี้ถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำผ่านการละหมาดทุกวัน

2. การวางระบบซะกาต ซึ่งกำหนดให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินในปริมาณครบตามพิกัดต้องจ่ายทรัพย์สินนั้นออกไปในอัตราส่วนที่แน่นอน เป็นการกดข่ม ลดทอนอิทธิพลของวัตถุเหนือจิตใจมนุษย์ และตอกย้ำให้ตระหนักว่าผู้ถือครองมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริงเหนือทรัพย์สิน ผู้ทรงกรรมสิทธิ์จริงแท้คืออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว ผู้จ่ายซะกาตจึงอยู่ในฐานะผู้ดำเนินการแจกจ่ายทรัพย์ในคลัง ตามคำบัญชาของเจ้าของทรัพย์เท่านั้น โดยนัยนี้ ซะกาตจึงมิใช่กุศลกิจที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้จ่าย แต่ได้ถูกกำหนดให้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานประการหนึ่งของอิสลาม ซึ่งข้อกำหนดที่อยู่ในสถานะนี้ ผู้ใดปฏิเสธก็ถือว่าได้สิ้นสภาพการเป็นมุสลิมไปแล้ว (Qaradawi 1986 : 99)

โดยนัยนี้ การละหมาดกับการซะกาตจึงเป็นปฏิบัติการคู่ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ในการดำรงอัตลักษณ์มุสลิม สิ่งซึ่งสะท้อนว่าทั้งสองข้อบัญญัตินี้ไม่อาจแยกส่วนจากกันคือถ้อยคำจาก อัลกุรอานที่เมื่อกล่าวถึงการละหมาดก็มักจะตามด้วยการระบุถึงซะกาตเสมอ เป็นเช่นนี้ถึง 30 ครั้ง (ibid : 57) การดำรงฐานะบทบัญญัติจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ทำให้ซะกาตได้รับการปฏิบัติบนพื้นฐานความศรัทธาและเต็มใจ มากกว่าจะทำด้วยภาวะจำยอมดังที่เกิดกับการเสียภาษี ซึ่งปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่คนในสังคมทั่วไปว่ามีความพยายามหลีกเลี่ยงด้วยวิธีการต่าง ๆ จนสังคมไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มกำลัง ความศรัทธาอันนำสู่การให้นี้เองที่จะช่วยบดทับ ทำลายความตระหนี่ถี่เหนียวในจิตใจได้ ดังที่ ฆอซาลีย์ (Ghazaliy 1073 - 1111) ปราชญ์มุสลิมนามอุโฆษ กล่าวไว้ว่า

“ความตระหนี่จะหายไปได้ก็ด้วยการฝึกให้จิตใจเคยชินกับการให้ ทั้งนี้เพราะเมื่อคนเราปฏิพัทธ์กับสิ่งใดย่อมไม่อาจตัดขาดจากสิ่งนั้น ยกเว้นต้องบังคับจิตใจให้แยกห่างไปจนกลายเป็นความเคยชิน โดยนัยนี้ ซะกาตจึงช่วยขัดเกลาผู้จ่ายให้สะอาดปราศจากคราบไคลของภัยร้ายได้ ความสะอาดนี้จะอยู่ในระดับใดย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณของการให้ ระดับความพอใจที่ได้ให้ และความปราโมทย์ยินดีที่ได้จ่ายไปเพื่ออัลลอฮ์” (อ้างโดย Mashhur 1993 : 256 )

การบัญญัติให้จ่ายซะกาตอันมาจากน้ำพักน้ำแรงของผู้ทำงาน ไม่ได้บั่นทอนกำลังใจใน การประกอบอาชีพของเขาเหล่านั้นแต่อย่างใด เพราะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้จ่ายเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากการจ่ายจะต้องทำก็ต่อเมื่อทรัพย์สินที่ได้มาเหลือใช้จากภาระจำเป็นแล้ว อีกทั้งอัตรา การจ่ายก็อยู่ในเกณฑ์ไม่ต่ำและไม่สูงมากเกินไป คือระหว่างร้อยละ 2.5-10 ของรายได้ที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเท่านั้น นอกจากจะไม่บั่นทอนกำลังใจ ซะกาตยังกลับช่วยสร้างความมุมานะในการทำงานหาเลี้ยงชีพมากขึ้น ภายใต้สำนึกของการแสวงหาความพึงพระทัยจากพระเจ้า ผู้ทรงมอบหมายให้มนุษย์ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ สร้างความจำเริญขึ้นบนพื้นพิภพ สำนึกเช่นนี้ผลักดันให้บุคคลต้องประกอบอาชีพที่สุจริตและแสวงหารายได้ที่ฮาลาล พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการทุจริตและรายได้ที่หะรอมอย่างถึงที่สุด โดยนัยนี้ ขณะที่คนผู้สมาทานลัทธิวัตถุนิยมทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา แล้วใช้มันไปในการซื้อหาความบันเทิงเริงรมย์อันฉาบฉวย เพื่อกลบเกลื่อนความไม่พอใจในชีวิตและความว่างเปล่าในจิตวิญญาณ ผู้จ่ายซะกาตกลับจะทำงานอย่างเปี่ยมพลังและความมุ่งหวัง สามารถใช้ความคิดอ่านของตนเองได้เต็มที่ เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจอื่นใดนอกจากอำนาจของอัลลอฮ์ และไม่จำเป็นต้องเติมเต็มชีวิตด้วยความบันเทิงเริงรมย์ ที่คอยแต่จะเบียดเบียนความคิดและเหตุผลของผู้เสพ ความสุขของเขาไม่ได้มาจากการบริโภค แต่หาได้จากการใช้จ่ายตามครรลองแห่งพระเจ้านั่นเอง พระองค์ผู้ทรงยกย่องและส่งเสริมการใช้จ่ายที่ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในชีวิตว่านั่นคือการใช้จ่ายในวิถีแห่งพระองค์ ดัง อัลกุรอานระบุว่า

“อุปมาบรรดาผู้ซึ่งใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาไปในวิถีทางแห่งอัลลอฮ์ อุปมัยดั่งเมล็ดพันธุ์ที่ก่อเกิดผลเป็นเจ็ดรวง แต่ละรวงมีเมล็ดพันธุ์อีกร้อยเมล็ด และอัลลอฮ์จะทรงเพิ่มพูนให้อีกแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ อัลลอฮ์คือผู้ทรงกว้างขวางยิ่ง ทรงรอบรู้ดียิ่ง” (Quran. El Bakorah : 261)

และในขณะที่ผู้คนในโลกวัตถุนิยมหยิบยื่นทรัพย์สินในครอบครองของตนแก่ผู้อื่นเพียงเพื่อจะได้รับบางสิ่งที่ตนเองมุ่งหวังจากผู้นั้น ผู้จ่ายซะกาตหยิบยื่นทรัพย์สินของตนโดยไม่หวังสิ่งใดจากผู้รับ ความหวังของเขาทั้งหมดอยู่ที่พระเจ้าผู้ทรงประกาศให้มนุษย์ได้รู้ว่าพระองค์คือผู้ทรงมั่งคั่งที่สุด ณ.พระองค์คือที่สถิตของทุกสิ่งมีค่า คลังของพระองค์ไม่มีการร่อยหรอ และพระองค์จะตอบแทนผู้ให้ในโลกนี้ด้วยผลกำไรที่มีปริมาณมากกว่าสิ่งที่เขาให้เป็นทบทวีคูณ อัลกุรอาน กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใจความว่า

“บรรดาผู้ซึ่งใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาไปในวิถีทางแห่งอัลลอฮ์ แล้วไม่คิดเป็นบุญคุณอีกทั้งไม่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ผู้รับ พวกเขาจะได้รับอานิสงส์ ณ.องค์ผู้อภิบาล พวกเขาไม่ต้องกลัวสิ่งใดและไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ระทม” (Quran. El Bakorah : 262)

จิตใจที่ก้าวข้ามความตระหนี่ไปได้ จึงสามารถละวางความเห็นแก่ตัวได้ และจึงเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง จิตใจที่เป็นอิสระจากการครอบงำของวัตถุย่อมสามารถใช้วัตถุเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความดีงามแก่ตนเองและผู้อื่นได้ ปรัชญาข้อนี้ อัลกุรอานได้สรุปไว้อย่างรวบรัด แต่ให้ความหมายที่ยิ่งใหญ่ว่า

“ผู้ใดปกป้องตนเองให้รอดจากความตระหนี่แห่งจิตใจได้ ผู้นั้นย่อมประสบความสำเร็จ” (Quran. Al Hashr : 9)

ข. ในด้านของผู้รับ
 

สภาวะการกดข่มซึ่งกันและกันในโลกวัตถุนิยมได้ทำให้คนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งดำรงตนอยู่เหนือคนกลุ่มใหญ่ซึ่งมักถูกกดข่มในทุก ๆ ด้าน ทั้งกายภาพและจิตภาพ ในเชิงกายภาพ โอกาสและพื้นที่ทำกินของคนเหล่านี้ถูกลิดรอนไปเรื่อย ๆ และไม่มีทางดำรงชีพต่อไปได้ นอกจากต้องยอมตนเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในกระบวนการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจแก่คนที่กดข่มตนเองอยู่ ชีวิตเกษตรกรในประเทศไทยดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ การศึกษาของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2536 และปี 2541 เกี่ยวกับภาวะหนี้สินและความยากจนของเกษตรกร มีข้อสรุปดังนี้

1) คนวัยทำงานอายุระหว่าง 35-54 ปี เป็นวัยที่ก่อหนี้สูงสุด

2) ยิ่งทำการเกษตรในพื้นที่มากก็ยิ่งเป็นหนี้มาก

3) ยิ่งมีรายได้มาก(โดยยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ) ก็ยิ่งเป็นหนี้มาก

4) ยิ่งใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชมากก็ยิ่งเป็นหนี้มาก

10 ปี ต่อมา สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจภาวะความยากจนของครัวเรือนเกษตร พ.ศ. 2546 ปรากฏว่าภาวะการเป็นหนี้ของเกษตรกรยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น กล่าวคือ บรรดาเกษตรกรกลุ่มยากจนทั้งประเทศมีครอบครัวเกษตรกรในภาคอีสานเป็นที่หนึ่งในภาระหนี้สิน คือเป็นหนี้กันถึงร้อยละ 79 รองลงมาคือภาคกลาง (ร้อยละ 70) ภาคใต้ (ร้อยละ 63) และภาคเหนือ (ร้อยละ 62) ... สำนักงานสถิติแห่งชาติแจกแจงไว้ว่าเกษตรกรต้องทำงานหนักหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ไม่พอกิน ต้องกู้เงินมาเพื่อใช้หนี้ โดยหนี้นั้นเกิดจากสาเหตุใหญ่ 3 อย่าง เรียงลำดับคือหนี้จากการลงทุนการเกษตร (เช่น เช่าที่ดิน ซื้อเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เครื่องมือการเกษตร เป็นต้น) หนี้จากการใช้จ่ายในครัวเรือนและหนี้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร (มงคลเลิศ ด่านธานินทร์ 2551: 88-89)

ส่วนด้านจิตภาพ คนชั้นล่างถูกกดข่มให้รับรู้และสัมผัสความต่ำต้อยของตนเอง ผ่านการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูง รูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขาซึ่งถูกถ่ายทอด และนำเสนอผ่านสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา กระตุ้นความอยากและความกระหายในตัวตนคนชั้นล่างให้ต้องการที่จะมีชีวิตแบบนั้นบ้าง แต่เนื่องจากสภาวะการกดข่มเชิงอัตลักษณ์นั้นใช้เครื่องมือสำคัญคืออุตสาหกรรมอารมณ์ที่ทำหน้าที่เบียดขับ บดทับความคิดอ่านและสติปัญญาเป็นหลัก ดังนั้น นอกเหนือจากบ่มเพาะความอิจฉาต่อความหรูหราของชนชั้นสูงแล้ว รูปแบบชีวิตที่เหมือนล่องลอยอยู่บนปุยเมฆของพวกเขาก็ยังผลักดันให้คนชั้นล่างมุ่งสร้างฐานะของตนขึ้นเทียบเคียง ด้วยวิธีการที่แทบไม่ต้องใช้ความคิด เหตุผล และความมานะบากบั่นใด ๆ เลย เช่น การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล การร่วมรายการเกมส์โชว์ที่แจกรางวัลจำนวนมาก เป็นต้น จอห์น เลน ได้ชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้ในสหราชอาณาจักรบ้านเกิดของเขาเองว่า

“ความกระหายเงิน กระหายความสะดวกสบาย และ “ความสำเร็จ” มีหลักฐานปรากฏชัดอย่างไม่อาจโต้แย้ง รายการตอบปัญหาที่ให้รางวัลเป็นเงินจำนวนมาก มีการนำเสนออย่างสม่ำเสมอทางจอโทรทัศน์ เมื่อปี 1999 ผู้ชมรายการ “ใครอยากจะเป็นเศรษฐีบ้าง” มีอยู่ราว ๆ 14 ล้านคน พอ ๆ กันกับจำนวนผู้ซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลในแต่ละสัปดาห์” (จอห์น เลน 2547 : 83)

สภาพการกดข่มทั้งทางกายภาพและจิตภาพยังก่อให้เกิดการต่อสู้จากชนชั้นล่างด้วย ทั้งในรูปของการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือการเดินขบวนประท้วง แต่ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในรูปแบบใด สิ่งที่ขาดหายไปจากจิตใจของผู้ถูกกดข่มก็คือความรัก ความ จริงใจ และความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เหลือไว้แต่ความรู้สึกที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แม้จะต้องแลกกับการเบียดเบียนผลประโยชน์ของผู้อื่นก็ตาม เช่น การประท้วงโดยการหยุดงาน ปิดถนน หรือการปิดสนามบิน เป็นต้น

ระบบซะกาตในอิสลามสามารถแก้ไขปัญหาความห่างเหินระหว่างชนชั้นดังที่กล่าวมาได้ ด้วยลักษณะพิเศษของซะกาตเองที่อิงอยู่กับความศรัทธาในพระเจ้า การหยิบยื่นจากใจที่ศรัทธาย่อมกอรปไปด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ มากกว่าที่จะให้เพื่อกดข่มผู้รับไว้ในอาณัติของตนดังที่เกิดในโลกวัตถุนิยม ซะกาตไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นการเจือจานของผู้มีรายได้สูงต่อผู้มีรายได้ต่ำ โดยที่การเจือจานนั้นไม่เกี่ยวกับว่าผู้รับทำงานให้กับผู้จ่ายซะกาตหรือไม่ และเป็นการให้ที่ผู้ให้ไม่อาจหวังสิ่งใดจากผู้รับ เพราะเป้าหมายสูงสุดของเขาคือความพึงพระทัยของพระเจ้าดังที่กล่าวแล้ว ธรรมชาติของความสัมพันธ์เช่นนี้สร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้ให้กับผู้รับทั้งในเชิงกายภาพและจิตภาพ จึงสามารถขจัดความรู้สึกเกลียดชังหรืออิจฉาคนรวยจากจิตใจของคนยากจนได้ ก่อเกิดความหวังและกำลังใจในการดำเนินชีวิต มองสังคมในเชิงบวก และสร้างความกลมเกลียวได้แม้ฐานะทางเศรษฐกิจจะต่างกัน ขณะเดียวกันการกำหนดให้ผู้รับซะกาตต้องเป็นคนยากจนที่ด้อยโอกาสจริง ๆ มิใช่ยากจนเพราะมัวแต่รอโชคชะตา หรือหวังรวยทางลัดด้วยการเล่นหวยเบอร์ ก็ผลักดันให้คนเราต้องทบทวนตนเอง และหันมาประกอบสัมมาอาชีพมากขึ้น

แม้จะมีผู้ขัดสนด้านเงินทองอยู่บ้างในสังคมที่มีการจ่ายซะกาต แต่การใช้ชีวิตของคนเหล่านั้นก็จะไม่แร้นแค้นความรักจากคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเติมเต็มความขาดแคลนด้านวัตถุได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะความยากจนไม่อาจวัดกันที่ความขาดแคลนวัตถุเท่านั้น แต่การขาดแคลนความรัก การยอมรับ และการให้เกียรติจากคนรอบข้างนับเป็นความยากจนยิ่งกว่า เพราะปัจจัยทางจิตวิญญาณเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นต่อความเป็นมนุษย์ (human needs) ไม่น้อยไปกว่าปัจจัยทางวัตถุเลย

โดย อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี