นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี

นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ในคราวที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ต้องการที่จะเห็นผู้นำศาสนาทุกระดับได้มีสถาบันขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพ จึงได้มอบหมายให้นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี หาแนวทางที่จะจัดตั้งสถาบันดังกล่าวขึ้น จนกระทั่งในปี 2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 49/2559 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่กำหนดร่วมกับองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ ที่ทางราชการรับรอง สถาบันการศึกษาด้านศาสนา ร่วมกันกำหนดมาตรการและกลไกในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ของศาสนิกของทุกศาสนา การนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ เช่น การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ การมีธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์สุจริต ความสามัคคีปรองดอง การสร้างสังคมสันติสุข และกำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นที่ทางราชการรับรอง ตลอดจนการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ชาวต่างชาติเกี่ยวกับข้อพึงปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในเรื่องทางศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย

หลังจากนั้น จุฬาราชมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 49/2559 ฝ่ายองค์กรศาสนาอิสลาม ที่ 5/2559 ลงวันที่ 5 กันยายน 2559 ที่มีนายคัมภีร์ ดิษฐาการณ์ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ เพื่อนำนโยบายขององค์กรศาสนาอิสลามเข้าไปบรรจุอยู่ในมาตรการที่จะจัดทำขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหมายให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบการจัดทำมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งจัดทำเป็น แนวทางยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมศาสนา มีวัตถุประสงค์หลัก

  1. เพื่ออุปถัมภ์ศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทยให้มีบทบาทในการสร้างคนดี สังคมดี

  2. เพื่อคุ้มครองป้องกันการบ่อนทำลายศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย

  3. เพื่อความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างศาสนา

  4. เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในกิจการศาสนา

  5. เพื่อใช้พลังศรัทธาทางศาสนาในการสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติให้เกิด
    ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน


โดยมียุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา

  2. ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่หลักธรรมที่ถูกต้อง

  3. ยุทธศาสตร์ที่ ๓ อุปถัมภ์ศาสนา

  4. ยุทธศาสตร์ที่ ๔ คุ้มครองป้องกันการบ่อนทำลายศาสนา

  5. ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างศาสนา

  6. ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การสร้างการรับรู้และความเข้าใจในกิจการศาสนา


ดังนั้นในการประชุมแต่ละครั้งคณะกรรมการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 49/2559 จึงได้ประมวลผลจากการประชุมนำเสนอผ่านกรมการศาสนาทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งในส่วนของการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลามก็บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 3 กลยุทธ์ที่ 3 ต่อมาในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ภายใต้คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 49/2559 (ปีงบประมาณ 2560 – 2565)

ในการนี้เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลามได้ดำเนินการให้ทันในปีงบประมาณ 2560 จึงได้มีประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง ตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 คำสั่งจุฬาราชมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการและประเมินผลสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม วันที่ 6 มกราคม 2560 และ คำสั่งจุฬาราชมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการและประเมินผลสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม (เพิ่มเติม) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560