ญาบิร อิบนุ ฮัยยานฺ นักปราชญ์ในสายธารอารยธรรมอิสลาม
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 16:09
  • 4966
  • 0

ญาบิร อิบนุ ฮัยยานฺ นักปราชญ์ในสายธารอารยธรรมอิสลาม

 

โดย อ.อาลี เสือสมิง

 

อบูอับดิลลาฮฺ ญาบิร อิบนุ ฮัยยานฺ อัลอะซะดีย์ มีชีวิตอยู่ในราวปี ฮ.ศ.101-197 ถือกำเนิด ณ เมืองฏูซ ในแคว้นคุรอซานอันเป็นเมืองที่โด่งดังทางประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน  ฮัยยาน อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลอะซะดีย์ บิดาของญาบิรได้อพยพจากเมืองยะมันสู่นครอัลกูฟะฮฺในตอนปลายรัชสมัยอัลอุม่าวียะฮฺและเป็นเภสัชกรในนครอัลกูฟะฮฺ โดยประกอบอาชีพนี้เป็นเวลานาน ในขณะที่พวกวงศ์อับบาสได้เริ่มเคลื่อนไหวในการล้มล้างราชวงศ์อุม่าวียะฮฺนั้น

ฮัยยานได้ให้การสนับสนุนพวกวงศ์อับบาส ซึ่งได้ส่งฮัยยานไปยังเมืองฏูซในคุรอซานเพื่อเผยแพร่ความคิดของตน และที่นั่นเอง จอมอัจฉริยะ ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ผู้วางรากฐานวิชาเคมีได้ถือกำเนิด ทว่าไม่นานนักพวกอุม่าวียูนได้ล่วงรู้ถึงภัยคุกคามต่อราชสำนักอุม่าวียะฮฺจากการเผยแพร่ความคิดของฮัยยาน อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลอะซะดีย์ ที่นิยมพวกอับบาซียะฮฺ ในหัวเมืองเปอร์เซีย พวกอุม่าวียูนจึงจับกุมฮัยยานและสังหารเขาในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ครอบครัวของฮัยยานจึงลี้ภัยกลับสู่หัวเมืองเยเมน และที่นั่น ญาบิร อิบนุ ฮัยยานได้เจริญวัย และเมื่อพวกวงศ์อับบาซียะฮฺได้เข้าควบคุมสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จในปี ฮ.ศ.131 ณ นครอัลกูฟะฮฺและมีความปลอดภัยมากขึ้น ครอบครัวของญาบิร อิบนุ ฮัยยานก็หวนกลับสู่นครอัลกูฟะฮฺอีกครั้ง ญาบิรได้เข้าร่วมวงวิชาการที่มีท่านอิหม่ามญะอฺฟัร อัซซอดิก (ร.ฎ) ก่อตั้ง เหตุนี้เราจึงพบว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ศึกษาวิชาการทางศาสนา ภาษาและเคมีจากท่านอิหม่าม ญะอฺฟัร อัซซอดิก (ร.ฎ) ซึ่งเป็นปราชญ์และนักวิชาการคนสำคัญจากวงศ์วานของท่านศาสดามุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน มีความเชี่ยวชาญในวิชาเคมีเป็นอันมาก เขาได้แต่งตำรามากมายที่ทรงคุณค่าและสร้างความน่าทึ่งแก่ผู้คนร่วมสมัย ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าบรรดาผู้ที่มีความอิจฉาริษยาและโง่เขลาได้วางแผนเล่นงานและหวังกำจัดญาบิรอยู่หลายครั้ง แต่ญาบิรก็รอดพ้นและคลาดแคล้วทุกคราไป ทำให้ญาบิรต้องหลบหลีกจากสายตาของผู้คนและทุ่มเทในวิชาเคมีอย่างจริงจัง


เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมากที่ชาวยุโรปบางคนที่มีอคติต่อประวัติศาสตร์อารยธรรมอาหรับ-อิสลาม จมปลักและดำดิ่งสู่มิจฉาทิฐิ โดยกล่าวว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่เป็นเรื่องของตำนานปรัมปราที่ตำราต่างๆ อ้างอิงถึง

และอ้างอีกด้วยว่า ผลงานทางวิชาการเฉกเช่นที่ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้กระทำเอาไว้นั้น เป็นเรื่องที่คนๆ เดียวมิอาจกระทำได้ ในขณะที่ชาวตะวันตกบางกลุ่มที่มีความชิงชังและอิจฉาริษยาได้กล่าวอ้างว่า ตำราส่วนใหญ่ของญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ในวิชาเคมีนั้นเป็นสิ่งที่ลูกศิษย์ลูกหาของญาบิรได้แต่งขึ้นและอ้างไปยังญาบิรผู้เป็นอาจารย์ เพื่อทำให้ตำราเหล่านั้นเป็นที่แพร่หลายและยอมรับในหมู่ผู้คนโดยอาศัยชื่อเสียงอันโด่งดังในวิชาเคมีของญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่บุคคลคนหนึ่งทุ่มเทและกลั่นกรองความคิดของตนด้วยการค้นคว้า วิเคราะห์เจาะลึกและตีแผ่ข้อมูลทางวิชาการด้วยความยากเย็น แต่แล้วก็กลับอ้างผลลัพธ์ที่ตนค้นพบไปให้คนอื่นเสียโดยที่ตนถูกหลงลืม! 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ศึกษาตำราของคอลิด อิบนุ ยะซีด อิบนิ มุอาวียะฮฺ ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์จึงถือว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้รับข้อมูลวิชาการมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ
1) จากตำรับตำราของคอลิด อิบนุ ยะซีด อิบนิ มุอาวียะฮฺ
2) จากอาจารย์ของเขาคือ ท่านอิหม่าม ญะอฺฟัร อัซซอดิก (ร.ฎ)

 

สิ่งที่ทราบกันดีก็คือ ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้วางระบบวิชาเคมีในนครอัลกูฟะฮฺ นักประวัติศาสตร์จึงเห็นพ้องกันว่า ญาบิร สมควรได้รับฉายานามว่า “ปรมาจารย์ในภาควิชาเคมีของตะวันออกและตะวันตก” และมิใช่เรื่องแปลกอันใดที่บรรดานักวิชาการรุ่นหลังญาบิรได้ดำเนินตามแบบแผนของเขาในด้านการทดลอง การรวบรวมสถิติ และการหาผลลัพธ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เหตุนี้เขาจึงเป็นเจ้าของแบบแผนและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้เรียกร้องว่า การศึกษาวิชาธรรมชาติวิทยานั้นมีการทดลองเป็นหลักมูลฐาน ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่าบรรดานักปราชญ์ชาวมุสลิมได้ดำเนินตามแบบแผนของอิบนุ ฮัยยาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในด้านวิชาเคมีเท่านั้น หากแต่ยังรวมศาสตร์แขนงอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้น ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน จึงเป็นบุคคลแรกที่นำเอาการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองเข้าสู่กระบวนการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเขาเป็นผู้กำหนดวางกฏเกณฑ์ต่างๆ ของมันอย่างมั่นคง มิใช่ เบคอนและเดคาร์ต อย่างที่ชาวตะวันตกกล่าวอ้าง

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของตนในการแสวงหาความรู้และสอนวิชาเคมี เขาได้ผลิตบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่มีความโดดเด่นในด้านความเฉลียวฉลาดและศักยภาพในการผลิตผลงานทางวิชา อาทิเช่น อัรรอซีย์, อิบนุ ซีนา และอัลฟารอบีย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นนักปราชญ์นามอุโฆษทั้งสิ้น และอารยธรรมอาหรับ-อิสลามได้เจริญรุ่งเรืองด้วยการมีส่วนร่วมของบรรดานักวิชาการอาหรับและมุสลิมในแวดวงของวิชาเคมี สิ่งดังกล่าวเป็นผลพวงที่เกิดจากตำรับตำราของญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ซึ่งถือเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ศึกษาวิชาเคมี

 

บรรดานักประวัติศาสตร์ในทุกแขนงและเชื้อชาติต่างก็เห็นพ้องกันว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน มีความรู้อย่างเอกอุในด้านวิชาเคมีและผลงานทางวิชาการที่มากมาย ด้วยเหตุนี้ชื่อของญาบิรจึงควบคู่กับคำกล่าวที่ว่า “เคมีของญาบิร และเคมีสำหรับญาบิร”

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน เป็นที่เลื่องลือในยุโรปมากกว่าในโลกอาหรับและดินแดนอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นตำราที่เขาได้เขียนเอาไว้นั้นก็ถือเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญมากๆ สำหรับโลกตะวันตก ในขณะที่โลกอาหรับและดินแดนอิสลามรู้จักชื่อเสียงของญาบิรน้อยกว่า ซึ่งอาจจะรู้จักเพียงชื่อของเขาเท่านั้นด้วยซ้ำ

 

บรรดานักวิชาการชาวตะวันตกได้มุ่งมั่นแปลตำรับตำราทางวิชาการของญาบิรจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน ทั้งนี้เพราะในบรรดาตำราเหล่านั้น มีข้อมูลต่างๆ ที่มีส่วนขับเคลื่อนความเจริญร่วมสมัยของยุโรปในเวลาต่อมา สมควรกล่าวได้ว่า มีนักวิชาการตะวันตกเป็นจำนวนมากได้ชื่นชมและเยินยอญาบิร อิบนุ ฮัยยาน อัลอะซะดีย์ อย่างเกินการ และถือว่าเขาเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาที่หาผู้เปรียบปรานได้ยากยิ่งตลอดกาล แต่การยอมรับเช่นนี้ก็ไม่ได้หักห้ามพวกเขาจากการลอกเลียนและแอบอ้างทฤษฎีและความคิดทางวิชาการของเขาในวิชาเคมีแต่อย่างใด

 

การสร้างสรรค์ผลงานในวิชาเคมีของญาบิร อิบนุ ฮัยยาน
ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ศึกษาและวิเคราะห์แบบแผนวิทยาการของนักปราชญ์ชาวกรีกอย่างเจาะลึก เขาพบว่าแบบแผนของชาวกรีกมุ่งเน้นประเด็นในการวิเคราะห์และหาคำอธิบายให้กับความคิดที่คลุมเครือและซับซ้อน ด้วยเหตุนี้เราจึงสังเกตได้ว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ยึดแบบแผนวิทยาการที่อาศัยการทดลองและปฏิบัติการในห้องทดลองเป็นหลักตลอดจนการหาหลักฐานทางด้านผัสสะที่ผ่านกระบวนการรับรู้ของประสาทสัมผัสพร้อมกับอนุรักษ์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญของการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์

 

วิชาเคมี (chemistry) ในสมัยของญาบิร อิบนุ ฮัยยาน นั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยชาวอาหรับเรียกขานศาสตร์แขนงนี้ว่า “อัซซอนฺอะฮฺ” (หัตถกรรม) เพราะมีสถานะเหมือนอาชีพหนึ่งจากอาชีพต่างๆ ที่ไม่ต้องการความรู้อันมากมายในการประกอบอาชีพตลอดจนไม่ต้องมีการฝึกฝนในระยะเวลาอันยาวนานแต่อย่างใด กาลเวลาผ่านไปได้ไม่นานนัก จนกระทั่ง ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้เริ่มต้นชีวิตทางวิชาการของตนด้วยการขลุกตัวอยู่กับเรื่องเคมี และแต่งตำราเล่มแรกที่มีชื่อว่า “อัรเราะฮฺมะฮฺ” โดยมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปรสภาพของธาตุธรรมดาๆ ให้กลายเป็นทองคำและเงิน โดยอาศัย “อิกซีร” (elixir) ซึ่งหมายถึง ยาซัดโลหะให้เป็นทองคำนั่นเอง

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ทุ่มเทและอุทิศเวลาของตนในการพัฒนาวิชาเคมี จนกระทั่งเขาได้กลายเป็น “บิดาแห่งวิชาเคมี” และตลอดช่วงยุคกลางนั้น วิชาเคมีถูกเรียกขานกันว่า “ศาสตร์ของญาบิร” หรือ “ประดิษฐกรรมของญาบิร” 

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ให้ความสนใจต่อการทดลองในห้องปฏิบัติการทดลอง เขาเชื่อมั่นต่อหลักการของการพิสูจน์และทดลองอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุนี้เขาได้สั่งสอนและตักเตือนเหล่าสานุศิษย์ของตนอยู่เสมอว่า “ภารกิจแรกก็คือ การที่ท่านต้องปฏิบัติการและทำการทดลองอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะผู้ใดก็ตามที่ไม่ลงมือกระทำและดำเนินการทดลอง ผู้นั้นก็ย่อมไม่อาจบรรลุถึงขั้นของความละเอียดและรอบคอบได้เลย ลูกเอ๋ย! เจ้าจงยึดหลักการทดลองและพิสูจน์เพื่อที่เจ้าจักบรรลุถึงภูมิความรู้” ความดีความชอบในการปลุกเร้าเหล่าสานุศิษย์และผู้แสวงหาความรู้ให้ดำเนินตามแบบแผนและการค้นคว้าทดลองในด้านวิชาเคมีจึงเป็นสิ่งที่หวนกลับสู่ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ซึ่งได้นำไปสู่วิชาเคมีสมัยใหม่ในเวลาต่อมา

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ขลุกอยู่ในห้องทดลองของตนในนครอัลกูฟะฮฺเพื่อวางหลักมูลฐานและโครงสร้างในวิชาเคมี ตรวจทานชำระคำอธิบายผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของตนอย่างละเอียดรอบคอบ เขาไม่ได้ออกนอกกรอบของแบบแผนในวิทยาศาสตร์ทดลองและไม่ผิดพลาดในการหาผลลัพธ์เฉกเช่นที่นักเคมีคนอื่นซึ่งหลงทางและวนเวียนอยู่ในเรื่องมายากลและสิ่งที่เป็นเรื่องเพ้อฝัน
ทฤษฎีของอริสโตเติ้ล (384-322 ก่อนคริสตกาล) ที่ว่าด้วยเรื่อง “ธาตุทั้ง 4” ได้สร้างความสนใจต่อญาบิร อิบนุ ฮัยยาน

 

ซึ่งทฤษฎีนี้กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้จะประกอบกันขึ้น จากน้ำ ลม ดินและไฟ และทุกๆ สิ่งจะมีคุณสมบัติเฉพาะทั้ง 4 คือ ความร้อน ความแห้ง ความชื้น และความเย็น” ด้วยเหตุนี้ ญาบิร จึงได้ทำการศึกษาและค้นคว้าอย่างเจาะลึกในเรื่องของธาตุและคุณสมบัติทั้ง 4 ประการ โดยถือว่ามันเป็นศิลารากฐานแรกที่วิชาเคมีตั้งอยู่ ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการทดลองของตนมากมายหลากหลาย

 

อาทิเช่น การระเหย (evaporate) การกลายเป็นไอ (vaporization) การจับตัว (calcification) การกรอง (filtration) การเคี่ยว (condensation) การกลั่นหรือการซึม (infiltration) การละลาย (dissolution) การหลอม (fusion) และการตกผลึก (crystallization) เป็นต้น นอกจากนี้เขายังได้นำเอาสารเคมีเป็นจำนวนมาก มาทำการทดลอง เช่น ออกไซด์ (oxide) ของปรอท, กรดกำมะถัน, กรดไนตริก, กรดอะซิติก และกรดกัดทอง (aqua regia) ที่ใช้ในการหลอมทองคำ เป็นต้น

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน คือ บุคคลแรกที่รู้ว่าขณะที่ผสมสารละลาย (Solution) ของเกลือแกง (sodium chloride) กับสารละลายไนเตรท (nitrate) ของเงิน (silver nitrate) จะทำให้ได้ตะกอนสีขาว ตะกอนสีขาวนี้คือ เกลือเงิน (silver chloride) ที่ใช้ทำกระดาษอัดรูปและญาบิรได้สังเกตพบว่า ทองแดง (copper) จะให้เปลวไฟเป็นสีเขียวและเปลวไฟก็จะทำให้ทองแดงมีสีน้ำเงิน ซึ่งทฤษฎีอะตอมหรือปรมาณูสมัยใหม่ก็บรรลุผลเช่นเดียวกับญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้สังเกตพบ

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้อธิบายอย่างละเอียดในการได้มาซึ่งเกลือชนิดต่างๆ ของกรดสารหนู (Arsenate) และแร่พลวง (antimony) ตลอดจนการสกัดแร่และการย้อมผ้าที่ถูกทอ ญาบิรยังได้เพิ่มเติมธาตุอีก 2 ตัวเข้าไปยังธาตุทั้ง 4 ของชาวกรีก คือ กำมะถัน และปรอท ต่อมานักเคมีชาวอาหรับได้เพิ่มธาตุที่ 7 เข้าไปคือ เกลือนั่นเอง

 

นอกจากนี้ ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ยังเป็นบุคคลแรกที่ใช้มาตรวัดที่รับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสและใช้มาตรการวัดที่มีความละเอียดแม่นยำเป็นที่สุดในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของตน เช่น กีรอฏ (Carat,Karat) ดานิก (1/6 dirham) ดิรฮัม (Dirham) มิซกอล (weight) อูกียะฮฺ (oke,ounce) และริฏล์ (rotl,pound) เขาได้วัดปริมาตรต่างๆ ที่น้อยกว่า 1/1,000 จากริฏล์ ซึ่งไม่อาจจะวัดได้นอกจากใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีความละเอียดแม่นยำมากๆ เท่านั้น จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน มีมาตรวัดที่มีความไวอย่างมากสำหรับนักเคมีในสมัยปัจจุบัน

 

ญาบิร อิบนุ ฮัยยานได้จุดประกายทฤษฎีที่ว่าการประสานหรือการรวมตัวทางเคมีจะเป็นไปได้ด้วยการติดต่อของอะตอม (ปรมาณู) ที่มีปฏิกิริยาต่อกัน เขาได้ยกตัวอย่างของปรอทและกำมะถันว่าในขณะที่ธาตุทั้งสองรวมตัวกันก็จะก่อเกิดธาตุตัวใหม่ขึ้น โดยธาตุทั้งสองนั้นไม่ได้สูญเสียคุณลักษณะเฉพาะ อันเป็นเนื้อแท้ของมันแต่อย่างใด แต่ธาตุทั้งสองจะแบ่งออกเป็นสสารขนาดเล็กๆ และส่วนแบ่งเล็กๆ เหล่านี้ก็จะผสมผสานเข้าด้วยกัน และก่อเกิดสสารชนิดใหม่ที่มีองค์ประกอบใกล้เคียงกัน

 

จินตนาการของญาบิรในเรื่องนี้ก่อให้เกิดความน่าฉงนยิ่งนัก เพราะเป็นการส่อเค้าถึงทฤษฎีอะตอม (ปรมาณู) ที่เลื่องลือซึ่งนักวิชาการตะวันตกกล่าวอ้างอย่างผิดพลาดว่าเป็นผลงานการคิดค้นของ จอห์น ดาลตัน นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ (ค.ศ.1766-1844) โดยนักวิชาการเหล่านั้นหลงลืมเสียสนิทว่า ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ได้คิดค้นมาก่อนหน้า จอห์น ดาลตัน เป็นเวลามากกว่า 1000 ปีมาแล้ว

 

จรรยาบรรณทางวิชาการเป็นสิ่งที่ทำให้เราจำต้องพูดว่า จอห์น ดาลตัน ไม่ได้เพิ่มเติมสิ่งใดในการพัฒนาทฤษฎีอะตอม (ปรมาณู)ซึ่ง ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน นักปราชญ์ชาวมุสลิมได้คิดค้นเอาไว้ นอกจากการที่จอห์น ดาลตันได้ยืนยันว่า อะตอมหรือปรมาณูนั้นเป็นมวล (Massive) หรือมีคุณสมบัติเป็นของแข็ง (solid) และมีช่องว่าง 

 

กล่าวโดยสรุปว่า หากไม่มีญาบิร อิบนุ ฮัยยาน และการทุ่มเทของเขาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาเคมีเฉกเช่น ลาฟูซิแอ , และกัลป์ลิโล ก็ย่อมไม่ปรากฏขึ้นและวงการอุตสาหกรรมและความเจริญทางสังคมเมืองก็คงเป็นไปอย่างล่าช้าอีกหลายศตวรรษด้วยกัน

 


บทความจาก : http://www.alisuasaming.com